นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน พร้อมด้วยนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. จังหวัดภูเก็ต พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย.67 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 2 ฉบับ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... และ 2. ร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายรองที่จะหมดวาระลงภายในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ พรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้านที่ทำงานติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมาตลอดเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์และภาคประชาชนก็ได้คัดค้านการเห็นชอบในร่าง พ.ร.ฎ. ทั้งสองฉบับมาโดยตลอด ซึ่งทางพรรคประชาชน มีข้อกังวลทั้งเรื่องกระบวนการและเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว อาจทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการพิสูจน์สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต่างกับการรับรองสิทธิการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานซึ่งการพิสูจน์สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามไม่ให้มีการออกโฉนดที่ดินที่เป็นภูเขาได้ ส่วนที่รัฐบาลระบุว่าร่าง พ.ร.ฎ. จะใช้บังคับใน 6 พื้นที่เท่านั้น ยังเป็นคำชี้แจงที่ยังคลุมเครือ เพราะยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่กฎหมายไม่ได้บังคับใช้ ดังนั้น รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ในพื้นที่อื่น ๆ จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ที่มาของการออก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ ต้องย้อนไปยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการออก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งรัฐบาลในช่วงเวลานั้นอ้างว่าจะเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าจากในอดีตที่หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด กฎหมายฉบับใหม่จะอนุญาตให้อยู่อาศัยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยมาตรา 64 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ บัญญัติให้กำหนดรายละเอียดเรื่องนี้เป็นโครงการในกฎหมายลูก จึงนำมาสู่การร่าง พ.ร.ฎ. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.ฎ. นี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนมาโดยตลอด แต่ทางกรมอุทยานฯ ยังคงเร่งรัดจะออกกฎหมาย แม้ว่าก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนได้แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน แต่ยังไม่มีการตอบรับใด ๆ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. จังหวัดภูเก็ต พรรคประชาชน กล่าวด้วยว่า ตนในนามของพรรคประชาชน จะขอเสนอให้ทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนและการรับรองสิทธิแก่ประชาชนให้มากขึ้น โดยพรรคประชาชน ขออาสาเป็นเวทีกลางในการรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่ายผ่านกลไกของ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย ผ่านกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขปัญหา โดยพรรคประชาชนจะมีการรณรงค์กับประชาชนทั่วประเทศให้รับทราบถึงเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับต่อไป
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง