นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การให้ความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมี พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นางปัณณิตา สท้านไตรภพ รองเลขาธิการวุฒิสภา รักษาราชการแทนเลขาธิการวุฒิสภา ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าร่วมพิธี ณ ห้องรับรองพิเศษ 207 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวมอบนโยบายทางการแพทย์ของรัฐสภา ว่า การทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นความสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การแพทย์ฉุกเฉินซึ่งสภาให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง โดยพยายามประสานงานกับโรงพยาบาลใกล้เคียงให้พร้อมรับมือกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รถพยาบาล และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาทีมบุคลากร ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 ได้มุ่งเน้นการพัฒนา “ทีมสุริยัน” ซึ่งประกอบด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐสภา จำนวน 25 คน ที่จะช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ และในระยะยาวจะมีการฝึกอบรมทั้งทีมสุริยันและตำรวจสภา 250 นาย ให้มีทักษะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเพิ่มเวรยามในพื้นที่ภายในอาคารรัฐสภาที่มีความซับซ้อน ให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 2. การแพทย์ทั่วไป จะมีการเปิดคลินิคภายในอาคารรัฐสภา เพื่อให้บุคลากรในวงงานรัฐสภาสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางออกไปแพทย์ ในช่วงเวลาที่มีภารกิจงาน ในเบื้องต้นจะมีทีมแพทย์ให้บริการ สัปดาห์ละ 2-3 วัน และในปีงบประมาณหน้าจะมีการเพิ่มวันให้บริการเป็น 5 วัน
ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวด้วยว่า ตนขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ที่มีเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงงานรัฐสภา รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการและความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิต พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และการบริการด้านการแพทย์ในองค์กรให้สามารถตรวจคัดกรองโรคในเบื้องต้นได้ การเสริมสร้างเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนต้องใช้เครื่องมือตรวจรักษาที่มีความทันสมัยและต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรที่มีสุขภาวะที่ดีและยกระดับการดูแลสุขภาพที่ดีต่อไป
ด้าน ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีตัวอย่างที่ต้องใช้การแพทย์ฉุกเฉินหลายครั้งที่เกิดขึ้นภายในอาคารรัฐสภา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐสภาที่อยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกรัฐสภา สามารถมีทักษะที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งหากผู้ป่วยหรือสมาชิกรัฐสภาได้ตรวจรักษาในคลินิกที่รัฐสภาข้อมูลก็จะเชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลวชิรพยาบาลด้วยผู้ป่วยก็จะทำให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ในโอกาสนี้ ตนขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ความไว้วางใจให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดูแลสุขภาพบุคลากรของรัฐสภา
จากนั้น เป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วิชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช นางสาวกัลยรัชต์ ขาวสำอางค์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางอัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการสำนักบริการทางการแพทย์ของรัฐสภา ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณะบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และ ผศ.นพ.นนธวัชร เบญจกุล ผู้ช่วยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ลงนามเป็นสักขีพยาน
โครงการดังกล่าวจัดโดย สำนักบริการทางการแพทย์ของรัฐสภามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพของบุคลากร และเป็นการเพิ่มทางเลือก เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง การส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาโรคที่ซับช้อน หรือโรคที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่ต้องอาศัยเครื่องมือตรวจพิเศษ รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นเครือข่ายด้านการแพทย์สามารถตอบสนอง ต่อความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างครอบคลุม ลดความเจ็บป่วย ลดอัตราการสูญเสียชีวิตของบุคลากรและเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง