นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประชาสัมพันธ์ขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนักจากอุทกภัยดำเนินการขอหนังสือรับรองผู้ประสบภัย จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ประสบภัย ว่าแม้เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลพยายามสื่อสารให้ประชาชนรับทราบถึงขั้นตอนการรับการเยียวยาเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหล่น แต่ปัญหาสำคัญคือกระบวนการเพื่อขอรับการเยียวยาผ่านหนังสือรับรองผู้ประสบภัยนั้น อาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนมากขึ้นเมื่อเทียบกับความยากลำบากที่ผู้ประสบภัยเผชิญอยู่แล้ว เพราะนอกจากประชาชนต้องขอหนังสือรับรองฯ จาก อปท. แล้วนั้น กระบวนการถัดไปคือต้องมีการประชาคมในระดับหมู่บ้าน ต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน ดังนั้นจึงขอย้ำข้อเสนอตามที่ตนเองเคยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องนำระบบ Geocoding มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาเยียวยาประชาชน โดยรัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียม จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency : GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลบ้านเลขที่ตามพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) ซึ่งประเทศไทยมีการใช้ระบบนี้ในการทำงานของการไฟฟ้า การประปา และไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีข้อมูลบ้านเลขที่และตำแหน่งพิกัดของบ้านอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้กับกรณีการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่ารัฐบาลสามารถนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาใช้พิจารณาเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ทันที หรือให้ประชาชนกดขอตรวจสอบข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อพบว่าข้อมูลตรงกับ Geocoding ระบุว่าน้ำท่วมจริง รัฐบาลสามารถจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยได้ทันทีหรือจ่ายเป็นบางส่วนก่อนได้เพื่อความรวดเร็วและช่วยเหลือให้ทันต่อความจำเป็นของผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ตนเองเคยเสนอมาตรการเที่ยวเมืองน้ำลดและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่เอกชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งยินดีที่รัฐบาลได้ขยับนโยบายตรงตามกับข้อเสนอดังกล่าว จนมีมาตรการแอ่วเหนือคนละครึ่งออกมา แม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้างแต่ขอสนับสนุนเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังภัยพิบัติได้โดยเร็วที่สุด
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง