14 ต.ค. 67 - กมธ.แก้ปัญหาหนี้สินฯ สภาผู้แทนราษฎร เรียก 3 หน่วยงานแจงแนวทางช่วยเกษตรกร ให้ความสำคัญเสถียรภาพราคาสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตในท้องตลาด พร้อมกับมีแนวทางส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ปลูกอ้อย เสริมศักยภาพเป็นผู้ประกอบการ 

image

          นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการเงินและการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งได้รับข้อมูลจากผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ว่ากรมมีแผนปฏิบัติการบริหารจัดการผลไม้ปี 67-70  จัดการปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เนื่องจากภาวะสินค้าล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ตามฤดูกาล รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ด้วยการขับเคลื่อน ปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้ เพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ผลไม้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ป้องกัน ควบคุม และกำกับคุณภาพผลไม้ เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแผนปฏิบัติการผลไม้ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ยกระดับคุณภาพสินค้า ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรอง มาตรฐานสินค้าเกษตร การสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนค้นหาสินค้าที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ เพื่อผลักดันสู่การสร้างแบรนด์สินค้าของชุมชน และมุ่งเน้นการตอบสนอง ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดควาพึงพอใจสูงสุด รวมถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการ สินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรคาร์บอนต่ำ และการปลูกข้าวเชิงประณีต รวมถึงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

         คณะ กมธ. แก้ปัญหาหนี้สิน ยังได้รับข้อมูลจากผู้แทนจากกรมการค้าภายใน ว่าในปี 67 นี้ ราคาผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีส่วนข้าวและมันสำปะหลังมีราคาต่ำลงเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยมาจากภาวะผลผลิตล้นตลาดและกระจุกตัวในบางช่วงเวลา อย่างไรก็ดี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีการดำเนินงานเชิงรุก กำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ มี 6 เป้าหมายในการบริหารจัดการผลไม้ให้ได้ จำนวน 9 แสนตัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในขณะที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ข้อมูล ว่าได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลให้สินเชื่อแก่เกษตรกร การเสนอขอรับเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ต่อคณะรัฐมนตรี การรับซื้อเศษซากใบและยอดอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ผู้ปลูกอ้อย รวมถึงส่งเสริมให้นำอ้อยและน้ำตาลทรายไปใช้เป็นวัตถุดิบต้นทางสำหรับการพัฒนาและต่อยอดด้านเอทานอล พลาสติกชีวภาพ วัสดุชีวภาพ เวชภัณฑ์ชีวภาพ เคมีชีวภาพ และวัสดุจากชีวมวล แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการ เช่น การจ่ายเงิน ช่วยเหลือแบบทางตรงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้เสนอแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มและบริหารจัดการในรูปแบบของกลุ่ม พร้อมผลักดันเกษตรกร ผู้ปลูกอ้อยที่มีศักยภาพให้เป็นผู้ประกอบการ การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และการใช้ผลผลิตอ้อยเป็นสินทรัพย์สำหรับการค้ำประกัน

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ