22 ธ.ค. 67 - สว.เทวฤทธิ์ ขอรัฐบาลทบทวนการบังคับใช้โทษประหารชีวิต คืนมนุษยธรรมให้กับเหยื่อและผู้กระทำ พร้อมชี้ต้องลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ

image

          นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เผยผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai ว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกลับแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยระบุว่า ครม.รับทราบ และมีความเห็นเพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมว่า เนื่องจากโทษบางชนิดและความผิดบางชนิดยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่ ซึ่ง ครม. เห็นชอบตามนั้นว่าโทษประหารชีวิตยังควรจะต้องมีอยู่ ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมระบุว่าโทษที่มีความผิดร้ายแรงส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลังไทยได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ไทยกลับงดออกเสียงในการโหวตของสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อพักการลงโทษประหารชีวิต จากเสียงโหวตสนับสนุน 130 ประเทศ ไม่สนับสนุน 32 ประเทศ และงดออกเสียง 22 ประเทศ
          สำหรับข้อเสนอของ กสม. เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูง และหลายประเทศงดเว้นไปแล้ว จึงต้องการให้ยกเลิก ทั้งนี้ มีการประชุมและติดตามสถานการณ์โทษประหารชีวิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
          ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึงข้อเสนอแนะให้ยุติโทษประหารชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในการประชุมระหว่าง กสม.กับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต พร้อมด้วยหน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง โดย กสม. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทนการประหารชีวิต ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด หรือ Most serious crime และยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี ตลอดจนยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
          รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2566 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าปี 2566 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในตะวันออกกลาง จากข้อมูลมีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้ง ไม่รวมการประหารชีวิตในจีนที่เชื่อว่าเกิดขึ้นหลายพันครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 จาก 883 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกได้หลังจากปี 2558 ที่มีการประหารชีวิต 1,634 ครั้ง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตกลับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รายงานเผยด้วยว่าปี 2566 จำนวนการตัดสินประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้งหมด 2,428 ครั้ง ซึ่งจากสถิติ 5 ประเทศที่มีจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดปี 2566 ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอิหร่านเพียงประเทศเดียวคิดเป็น 74% ของการประหารชีวิตที่บันทึกได้ทั้งหมด ขณะที่ซาอุดีอาระเบียคิดเป็น 15% ซึ่งในปี 2566 โซมาเลียและสหรัฐอเมริกาต่างมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี สถิติการประหารที่เพิ่มขึ้นในอิหร่าน เกิดจากการเพิ่มความรุนแรงในการใช้โทษประหารชีวิต เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและพยายามรวบอำนาจไว้โดยใช้การประหารชีวิตทั่วประเทศ ทำให้ในปี 2566 มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 853 คน เพิ่มขึ้น 48% จาก 576 คน ในปี 2565
          ขณะเดียวกันสถานการณ์ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พบว่าจีนยังคงประหารชีวิตและตัดสินประหารชีวิตหลายพันคน แต่ตัวเลขยังคงเป็นความลับของรัฐทำให้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นและเมียนมาไม่มีการบันทึกข้อมูลประหารชีวิต ส่วนมาเลเซียยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวสำหรับความผิดทั้งหมดและลดขอบเขตของการลงโทษนี้ ขณะที่ ไทยยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งโทษประหารส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
          นายเทวฤทธิ์ ระบุว่า ตนขอเรียกร้องให้ไทยที่กำลังจะได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทบทวนการบังคับใช้โทษประหารชีวิต เพราะนี่คือขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ โดยเฉพาะหลายกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งการจับแพะ การยัดข้อหา การประหารผิดคน ซึ่งการสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมที่โทษประหารจึงไม่อาจเป็นช่องทางอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้ ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการประหารชีวิต เพราะหลายกรณีที่ตกเป็นแพะรับบาปในคดีร้ายแรงจะสามารถมีชีวิตเพื่อรอวันรื้อคดีได้ ที่สำคัญ การประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของความยุติธรรม
          อย่างไรก็ดี การยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ คือ ความเป็นธรรมต่อเหยื่อในคดีความ เน้นมาตรการเยียวยาฟื้นฟูต่อเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด ดังนั้น การยกเลิกโทษประหารชีวิตจึงต้องมาพร้อมกับการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย หรือเป็นการช่วยเหลือฆาตกรตามที่หลายฝ่ายเข้าใจแต่อย่างใด

 

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
เพจเฟซบุ๊ก เทวฤทธิ์ มณีฉาย - Bus Tewarit Maneechai ข้อมูล / ภาพ 

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ