นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่องการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง และแนวทางในการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการฯ คณะทูตานุทูต ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาชน รวมทั้งผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวม 40 หน่วยงาน ตลอดจนผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากภาควิชาการ ภาคเอกชน องค์ระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ณ ห้องประชุม B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่มีนายกัณวีร์ สืบแสง เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศทางผ่าน ที่พักพิงชั่วคราว และเป็นที่แสวงหาโอกาสในการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seeker) ผู้ลี้ภัย (refugee) และนักธุรกิจ ผู้ที่ต้องการมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย รวมถึงคนที่ยังไม่มีสัญชาติ แม้จะอยู่ในประเทศไทยมานาน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมจัดการของประเทศไทยผ่านกฎหมายฉบับเดียว คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่บังคับใช้มานานเป็นเวลา 45 ปีแล้ว ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ โจทย์ท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อไป คือ การขาดกำลังแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ดังนั้น ข้อเสนอในเรื่องการโยกย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลง จึงเป็นข้อเสนอที่ควรถูกหยิบยกมาทบทวน และถึงเวลาที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ทันสถานการณ์และการยอมรับในต่างประเทศ ทั้งนี้ ภายหลังที่คณะอนุกรรมาธิการฯ หมดวาระ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีการนำเสนอรายงานเรื่องปัญหาและแนวทางการแก้ไขแบบยั่งยืนเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ : ข้อสังเกตต่อการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง การอภิปรายกลุ่มเรื่องพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 : การบังคับใช้ ผลกระทบ ข้อท้าทาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย สำหรับการบริหารจัดการผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และเรื่องการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยภายใต้บริบทสังคมสูงอายุ : ข้อเสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนประชากร
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
20 พ.ค. 67 - กมธ.การกฎหมายฯ สผ. เชิญ 40 หน่วยงาน แลกเปลี่ยนความเห็นการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง หวังแก้ไขกฎหมายให้ทันสถานการณ์ พร้อมรองรับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ