19 ก.ย.67 - ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เห็นรายละเอียดคำร้องขอสภาฯ สอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร กรณีไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ ขณะคาด กำหนดวันประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลางเดือนตุลาคมนี้ 

image

                 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความเห็นต่อกรณี นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ จากการไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้ ตนยังไม่ได้เห็นเนื้อหาของเรื่องที่มายื่น โดยตามกระบวนการของสภาฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องแล้วก็จะส่งมาถึงตนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งหากเป็นการยื่นร้องเรียนเรื่องจริยธรรม ทางสภาฯ ถ้าพิจารณาว่าเนื้อหาตรงหาตรงกับที่ยื่นไว้ ก็จะส่งให้กรรมการจริยธรรมของสภาฯ ที่ประกอบด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของ สส. ทุกภาคส่วน และบุคคลที่เป็นอดีต สส. ซึ่งจากนี้จะได้มีการนัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ ต่อไป

                ต่อข้อถามของผู้สื่อข่าวถึงกรณี พลเอก ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯ มีการส่งใบลาต่อสภาฯ หรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ต้องไปตรวจสอบว่าสมัยประชุมที่แล้วหรือสมัยประชุมนี้ พลเอก ประวิตร มาเข้าร่วมประชุมสภาฯ กี่ครั้ง และมีการส่งใบลาครบตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพราะการเข้าประชุมสภาฯ จะมีการเซ็นชื่อทุกครั้ง แม้แต่ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ก็ต้องเซ็นชื่อ เพื่อแสดงว่าได้มาเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ตนจำข้อมูลที่แน่ชัดไม่ได้ว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ ห้าม สส. ขาดประชุมได้ไม่เกินกี่ครั้ง หรือลาประชุมโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ สามารถเสนอให้พ้นจากสมาชิกภาพ สส. ได้ อย่างไรก็ตาม การลาประชุมสภาฯ ขึ้นอยู่กับเหตุผล เช่นกรณี สส.บางคนป่วยและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาฯ ได้ตลอดระยะเวลาสมัยประชุม ก็เคยมี ซึ่งการดูแลเรื่องการลาประชุมสภาฯ ของ สส. ไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ส่วนกรณีศาลจังหวัดนราธิวาส ได้ส่งหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอออกหมายเรียก พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในคดีสลายเหตุการณ์จลาจล ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และ พลเอก พิศาล ไม่ได้เข้าร่วมประชุม นั้น ตนได้สอบถามจากทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แล้ว ได้รับการรายงานว่า พลเอก พิศาล ได้ส่งใบลาประชุมสภาฯ โดยระบุว่าลาป่วย ซึ่งขณะนี้ สำนักงานยุติธรรมของศาล ได้ส่งหนังสือว่าศาล ขออนุญาตจับกุมตัวในระหว่างสมัยประชุม เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีได้ต่อไป โดยทางสภาฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มี 4 วรรค ซึ่งเพิ่มเติมในวรรคที่สี่ว่าในสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุม หากศาล จะดำเนินคดีต่อสมาชิกรัฐสภา สามารถจะดำเนินคดีได้ 

                ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในสัปดาห์หน้า ตามที่ก่อนหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะเป็นวันที่ 25 ก.ย.67 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ล่าสุดมีบางพรรคการเมืองระบุว่าอยู่ระหว่างจะเสนอร่างฯ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพิ่มจากหลายร่างฯ ที่มีบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมแล้ว ซึ่งเป็นร่างฯ ที่ยื่นจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าควรพิจารณาทุกร่างฯ ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้อาจต้องเลื่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไปในช่วงไม่เกินกลางเดือนตุลาคมนี้ เพราะอยากให้พิจารณาวาระรับหลักการภายในสมัยประชุมนี้ เพื่อให้ในช่วงปิดสมัยประชุม ทางคณะกรรมาธิการ จะได้นำร่างฯ ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ต่อไป  

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ