9 ก.ค. 68 - สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข-นิรโทษกรรม รวม 5 ฉบับ ยังไม่จบ รอต่อสัปดาห์หน้า “รังสิมันต์” ชี้ควรเปิดกว้าง ไม่จำกัดช่วงเวลา-คดี ด้าน “ภราดร” เตือนต้องระวัง หวั่นซ้ำรอยนิรโทษกรรมสุดซอย ขณะที่ “จุรินทร์” ย้ำต้องไม่รวม มาตรา 112

image

          การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ที่นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ กับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมมีมติให้นำร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันมาพิจารณาพร้อมกัน ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 28 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ที่นายปรีดา บุญเพลิง สส.พรรคกล้าธรรม กับคณะ เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ที่นายชัยธวัช ตุลาธน อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ที่นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ
          นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ร่างกฎหมายของพรรคที่เสนอโดยนายชัยธวัช เสนอให้นิรโทษกรรม โดยไม่เลือกฐานความผิด เพราะมองว่ากฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ดังนั้น ควรเปิดกว้าง ไม่จำกัดช่วงเวลา หรือจำกัดคดี เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยและสมานฉันท์อย่างแท้จริง โดยขอย้ำว่าไม่ได้ให้สิทธิโดยทันที แต่จะมีคณะกรรมการกลางจากศาล รัฐสภา และรัฐบาล พิจารณาเป็นรายคดีไป
          ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายแสดงจุดยืนตรงข้ามพรรคประชาชน โดยยืนยันไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 เพราะสังคมยังไม่ยอมรับ และอาจนำไปสู่การชุมนุมรอบใหม่ ซึ่งร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย จะไม่ให้นักการเมืองเข้าร่วมพิจารณาคดี เพื่อหลีกเลี่ยงอคติ โดยจะใช้บุคคลในกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก พร้อมเสนอให้เลือกนิรโทษกรรมบางส่วน เพื่อไม่ให้พลาดทั้งหมด เหมือนกรณีนิรโทษกรรมสุดซอยที่เคยสร้างแรงต้านจนล้มเหลวไม่สามารถไปต่อได้
          ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของตนเองและพรรค ใน 2 แนวทาง คือ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั่วไป เช่น การชุมนุม การแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในวิถีทางประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม การกระทำความผิดตามมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และมาตรา 112 (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) รวมถึงคดีทุจริตประพฤติมิชอบ และคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา โดยยกประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมในประเทศไทยที่มีมาแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีทางการเมือง ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชัน หรือคดี มาตรา 112 มาก่อน ซึ่งหากตั้งเป้าหมายว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข สังคมปรองดอง เป็นดาบสองคม เพราะอีกคมหนึ่งแทนที่จะสร้างสังคมปรองดองอาจนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมครั้งใหญ่ก็ได้
          ทั้งนี้ การอภิปรายของสมาชิกผลัดเปลี่ยนกันกับผู้ชี้แจงร่างกฎหมาย โดยการอภิปรายของสมาชิกยังไม่เสร็จสิ้นและผู้ชี้แจงบางส่วนยังไม่ได้อภิปรายสรุป ซึ่งประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดประชุม ในเวลา 17.09 น. และให้กลับมาพิจารณาต่อในการประชุมสัปดาห์หน้า

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ