นายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร ณ อัมรีฟาร์ม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายธาตรี สิริรุ่งวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายจำนงค์ จังอินทร์ เจ้าของอัมรีฟาร์ม เกษตรกรเครือข่าย หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ โดยได้รับฟังบรรยายสรุปข้อมูลประวัติความเป็นมา การดำเนินธุรกิจของฟาร์มที่ใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เข้ามาบริหารจัดการ การพัฒนาภาคเกษตรไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ความสำเร็จของฟาร์ม การสนับสนุนของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น งบประมาณ ปัจจัยการผลิต การฝึกอบรม การตลาด เป็นต้น รวมทั้งแผนการดำเนินงานในอนาคต
สำหรับอัมรีฟาร์ม เริ่มต้นจากการเลี้ยงแม่โคเพื่อผลิตลูกโคขายเป็นรายได้เสริม ต่อมาปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานมาเน้นการเลี้ยงโคขุนแบบประณีต โดยพัฒนาฟาร์มอย่างเป็นระบบทั้งการจัดการฟาร์ม การก่อสร้างโรงเรือนที่เหมาะสม การคัดเลือกสายพันธุ์โคที่มีอัตราการเจริญเติบโตดี อาทิ โคลูกผสมชาร์โรเลส์และแองกัส การนำกากมันหมักยีสต์มาใช้เป็นอาหารโคขุน และการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นแหล่งอาหารหยาบ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้อัมรีฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GFM และฟาร์มปลอดสารเร่งเนื้อแดงจากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันอัมรีฟาร์มมี เครือข่ายฟาร์มร่วม 150 แห่ง เลี้ยงโคขุนรวม 1,086 ตัว คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 76,020,000 บาท โดยจัดส่งโคขุนจากฟาร์มหลักและฟาร์มในเครือข่ายจำหน่ายให้กับสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด (Max Beef) เฉลี่ยเดือนละ 30 ตัว ทั้งนี้ ในด้านผลตอบแทนจากการจำหน่าย พบว่า ปี 2566 ฟาร์มจำหน่ายโคขุนจำนวน 150 ตัว มูลค่า 9,980,000 บาท ปี 2567 จำนวน 224 ตัว มูลค่า 15,858,707 บาท และในปี 2568 (ข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์) จำหน่ายไปแล้วจำนวน 69 ตัว มูลค่า 4,059,784 บาท สะท้อนถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องและผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนของอัมรีฟาร์ม
ภายหลังการรับฟังข้อมูล กมธ. ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงโค เนื่องจากต้นทุนหลักของการเลี้ยงโคมากถึงร้อยละ 70 มาจากค่าอาหารสัตว์ จึงเห็นควรให้มีการวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารเสริมทางเลือกที่สามารถผลิตได้ในพื้นที่ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ควรพัฒนาต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจรตั้งแต่การขุนโค การชำแหละไปจนถึงการจัดจำหน่าย เน้นการสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อรองรับความเสี่ยงในกรณีที่ตลาดหลักของฟาร์มมีปัญหาหรือหยุดดำเนินกิจการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเครือข่าย และควรให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานคุณภาพการผลิต และการบริหารจัดการเครือข่ายเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง ควบคู่กับการยึดมั่นในประโยชน์สูงสุดของสมาชิก เพื่อให้สามารถเติบโตและพัฒนาไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยจะได้นำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้รับไปประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไป
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
สำนักประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ
