นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ในรายการจับกระแส แลสภา ออกอากาศทางโซเชียลมีเดีย Youtube : TP Radio News ถึงข้อสังเกตที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาหนี้สิน ว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะหนี้สินภาคครัวเรือนของภาคประชาชน ตนขอให้รัฐบาลมีความจริงจังในการเร่งแก้ปัญหานี้เพราะเป็นปัญหาที่กดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหนี้ที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าหนี้ หรือรัฐสามารถช่วยเหลือได้ อย่างเช่นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตนมีความเห็นว่า กยศ. ควรเร่งรัดและเร่งรีบในการปฏิบัติตามกฎหมายและคำนวณยอดหนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้มีการลดดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ และคำนวนการตัดยอดหนี้ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด คือ ตัดเงินต้นก่อน หากรัฐทำได้ จะสามารถช่วยลูกหนี้ กยศ. จำนวนหลายล้านคนได้ และจะช่วยลดภาระหนี้ให้กับประชาชนได้ค่อนข้างมาก โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณในส่วนใดเพิ่มเติม และอีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องหนี้นอกระบบ เนื่องจากทางรัฐบาล มีแนวคิดในการที่จะใช้เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินในการช่วยเสริมสภาพคล่องในส่วนต่าง ๆ ไปสู่ชุมชน ตนเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านสามารถมีบทบาทในการช่วยปิดหนี้นอกระบบได้ เพื่อให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้นอกระบบไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยจำนวนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการโดยเร็ว
นายชัยวัฒน์ เลขานุการ กมธ.แก้ปัญหาหนี้สินฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อสังเกตที่มีต่อรัฐบาล ในการแก้ปัญหาความยากจน ว่าเรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนารายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และมีรายได้ค่อนข้างน้อย ทั้งการพัฒนาการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการลดจำนวนแรงงานการเกษตร แล้วย้ายไปเป็นแรงงานในภาคบริการหรือภาคอื่น ๆ ที่มีรายได้สูง พร้อมพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ ด้วยการอบรมและให้การศึกษา โดยต้องมีการวางแผนและแนวทางไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ เลขานุการ กมธ.แก้ปัญหาหนี้สินฯ สภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวถึงข้อสังเกตที่มีต่อรัฐบาล ในการลดความเหลื่อมล้ำ ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน ตนจึงขอให้รัฐบาล เร่งดูแลปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของประชาชน คือ ปัจจัย 4 ได้แก่ การเข้าถึงอาหาร ค่าครองชีพ ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ให้กับประชาชนด้วย
คณรัตน์ ยินดีมิตร ข่าว / เรียบเรียง