นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นต่อผลการเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 8 นครศรีธรรมราช ซึ่งนายก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ผู้สมัครจากพรรคกล้าธรรม คว้าชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการ โดยระบุว่า สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ คะแนนของผู้ชนะที่ได้ไปเกือบ 40,000 คะแนน โดยห่างจากผู้สมัครของพรรคเดิมเจ้าถิ่นอย่างพรรคภูมิใจไทยราว 20,000 คะแนน ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขอาจมองว่าพรรคกล้าธรรมมาแรง แต่จริง ๆ แล้ว พรรคภูมิใจไทยที่เคยชนะได้คะแนนเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ขณะที่พรรคกล้าธรรม ซึ่งไม่ได้ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2566 แต่คะแนนเมื่อปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ รวมกัน 3 พรรค อยู่ที่ประมาณ 34,000 คะแนน ตัวเลขใกล้เคียงกับครั้งนี้ และหากไปรวมกับคะแนนของพรรคที่ได้ลดน้อยลงอย่างพรรคประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าไม่น่าแปลกใจมากนัก เพียงแต่พรรคกล้าธรรมสามารถรวมเสียงจนเป็นผู้ชนะได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่ามอง และสิ่งหนึ่งที่น่าจะถูกจับตามองในระยะยาว คือ โมเดลหลังพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายคนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์หมดสิ้นมนต์ขลัง ในภาคใต้ไปแล้ว แม้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่เป็น สส. ในพื้นที่หลายสมัย มีแคมเปญโค้งสุดท้าย “มาบอกรักนายชวน” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมองว่าการเมืองที่เป็นบ้านใหญ่หรือฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ยังอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเมืองแบบ 3 ผู้อาวุโสของพรรค อาจจะยาก เมื่อดูจากผลการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้
ส่วนที่นักวิเคราะห์และผู้สื่อข่าวติดตาม คือ เรื่องของกระสุนหรือการซื้อเสียงในพื้นที่ นายเทวฤทธิ์ มองว่า มีร่องรอย เช่น พรรคเจ้าถิ่นที่ถูกตัดสิทธิก็เป็นเพราะคดีซื้อเสียง ซึ่งมองว่าต้องระมัดระวังที่จะพูดถึงเรื่องของการซื้อเสียง เนื่องจากในทางกลับกัน นี่คือการทำลายความชอบธรรมของระบบการเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดการพูดเรื่องนี้จะทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบและแปลว่ายังมีความหวังกับการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการปฏิรูปและทำให้ระบบเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง และหากมองย้อนกลับไปคู่แข่งอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคกล้าธรรม มองว่าฐานคะแนนหลักน่าจะไม่ได้มาจากกระสุนขนาดนั้น แต่ปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องของการทำงานพื้นที่ อีกทั้งการเลือกตั้งซ่อม หลายคนวิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญของผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของกระแสหรือกระสุน เพราะทราบอยู่แล้วว่าใครจะเป็นพรรครัฐบาล ที่จะมีทรัพยากรมาลงในพื้นที่ คิดว่าประชาชนมองตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าการซื้อเสียงไม่มีผล แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่เอื้อให้ผลการเลือกตั้งเป็นเช่นนี้
นายเทวฤทธิ์ กล่าวถึงการเลือกตั้งที่สุจริตด้วยว่า หลายคนบอกว่าจำนวนของผู้ที่มาใช้สิทธิจะเแปรผกผันกันกับการซื้อเสียง ซึ่งเน้นย้ำว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่การตั้งธงว่ามีการซื้อเสียง แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ การออกมาใช้สิทธิให้เยอะขึ้น การขายนโยบายที่มากขึ้น แต่กรณีที่นครศรีธรรมราชเป็นการเลือกตั้งซ่อม มองว่าการขายนโยบายอาจจะยาก เพราะทราบกันหมดแล้ว แต่หากจะไปให้ไกลกว่านั้น ควรจะมีการปฏิรูประบบให้ สส. มีบทบาทหลักในฝ่ายนิติบัญญัติ การออกแบบกฎหมาย การผ่านนโยบายต่าง ๆ ขณะที่งานด้านทรัพยากรต่าง ๆ ควรจะเป็นงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มองว่าการกระจายอำนาจเป็นการตอบโจทย์อีกแนวทางหนึ่ง ดังนั้น การลงทุนกับ สส. ก็จะไม่เชื่อมโยงกับการสร้างเครือข่ายหรือการดึงเอาทรัพยากร งบประมาณ ไปลงในพื้นที่เหมือนกับที่ผ่านมา อีกประการหนึ่ง คิดว่า ตัวแทนเชิงพื้นที่จะต้องมีจุดร่วมในเรื่องผลประโยชน์ที่ลดน้อยลง สัดส่วนของ สส.บัญชีรายชื่อ กับ สส.เขต ควรจะเท่า ๆ กัน นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริต คือ การเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งไปจนถึงการนับคะแนน ที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้การทุจริตลดลงไปด้วย
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
