23 ก.พ. 68 - กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Law Lab การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หวังเป็นพื้นที่วิพากษ์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภาฯ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน

image

          นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Law Lab การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักเรียน  นักศึกษา สื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสัมมนา ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
          จากนั้น เป็นการอภิปรายในหัวข้อ “Law Lab การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล
          สำหรับการสัมมนาดังกล่าว จัดโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน โดยมีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ต่อสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ร่าง ได้แก่ ร่างที่เสนอโดยนายปารมี ไวจงเจริญ สส. พรรคประชาชน ร่างที่เสนอโดยนายเทอดชาติ ชัยพงษ์ สส. พรรคเพื่อไทย และร่างที่เสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล สส. พรรคภูมิใจไทย โดยแม้ว่าทุกข้อเสนอจะระบุถึงเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน คือ ปรับปรุงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติให้ทันสมัย แต่ละข้อเสนอมีความแตกต่างกัน ทั้งในเชิงเนื้อหาและรายละเอียดเชิงกระบวนการที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์การจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน จึงสมควรที่จะต้องมีพื้นที่ให้ประชาชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงเหตุผลของผู้เสนอ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทหลักในการบังคับใช้กฎหมายได้มีโอกาสวิพากษ์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายแต่ละฉบับ รวมทั้งให้คณะกรรมาธิการฯ และผู้เสนอร่างกฎหมายได้รับข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้สื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ เพื่อสื่อสารได้อย่างแม่นยำ ตรงจุด อย่างเป็นวงกว้างในทางสาธารณะต่อไป

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
สำนักประชาสัมพันธ์ สผ. ข้อมูล / ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ