นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเยยถึงรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุก ซึ่งพบว่าการส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันยังมีการใช้ยานยนต์ระบบสันดาป (ICE : Internal Combustion Engine) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลมีการปล่อยมลภาวะจากระบบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีรายงานการศึกษาบ่งชี้ว่าที่มาของปริมาณ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาจากภาคการขนส่งเป็นจำนวนมาก ทั้งจากรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก และรถโดยสาร ขณะเดียวกันผลการศึกษาเชิงลึกพบว่าแม้รถยนต์ส่วนบุคคลจะมีจำนวนมากกว่ารถบรรทุกและรถโดยสาร แต่การปล่อย PM 2.5 น้อยกว่ารถบรรทุกและรถโดยสารอย่างมีนัยสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือขนาดเครื่องยนต์สันดาป ขนาดการบรรทุก และชั่วโมงการใช้งาน ดังนั้น การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุกจะทำให้การปล่อย PM2.5 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งพบว่าหากส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลมีการนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศมากกว่าร้อยละ 90 จึงเกิดการขาดดุลทางการค้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุกจะช่วยลดการขาดดุลทางการค้าจากน้ำมันได้ และจากการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงทุก ๆ ครั้ง จะมีเงินจำนวนหนึ่งถูกหักเข้าไปที่กองทุนน้ำมัน รวมทั้งยังมีอีกส่วนที่รัฐต้องสนับสนุน ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีภาวะติดลบไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ภาษีของประชาชนชดเชยภาวะดังกล่าว การส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยในการลดการติดลบของทุนดังกล่าวด้วย
นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุกยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ เนื่องจากในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะยานยนต์สันดาป แต่เมื่อมีการเปลี่ยนยุคสมัยเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ย่อมเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมเก่าไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะต้องปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) อุตสาหกรรม PCB ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีตัวเลขราว 1 แสนล้านบาท หากมีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารและรถบรรทุกทั้ง 3 ส่วนนี้ ประโยชน์ย่อมเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ และจากการหารือกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับปากแล้วว่าจะผลักดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามรายงานฉบับนี้เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ณรารัฏฐ์ โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง