6 ม.ค.68- สว.เปรมศักดิ์ คัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชน ชี้ไม่ควรแตะต้องหมวด 1-2 สร้างความแตกแยก พร้อมระบุการเสนอลดจำนวนเสียงโหวต สว. ถือเป็นการตัดอำนาจ ย้ำรอ 180 วันได้ ไม่ต้องรีบร้อน

image

    นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงถึงการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ว่าสำหรับตนขอคัดค้านการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) ของพรรคประชาชน เรื่องการออกเสียงเห็นชอบในวาระแรกและวาระสาม ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นชอบของ สว.ร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และเพิ่มเติมด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
     นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าร่างของพรรคประชาชนยังตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 256 (8) ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นการตัดทอนอำนาจของ สว. ลงอย่างชัดเจน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่บัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร และอาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภา ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) เดิมได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่าไม่เห็นด้วยเพราะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาล หรือองค์กรอิสระ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยไม่ควรแตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง และอีกเหตุผลคือ ตนลงพื้นที่ช่วงปีใหม่ พบว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนมากกว่าปัญหาปากท้องประชาชน จึงมองว่าสามารถรอ 180 วัน ได้ เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วเสร็จ
นพ.เปรมศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่าจากที่ได้รับฟังเสียง สว. ส่วนใหญ่เห็นด้วยคล้ายกับตน คือไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าพรรคใดจะเสนอก็ตาม เพราะไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองใดเสนอมาเป็นตัวตั้ง แต่หากพรรคเพื่อไทยเสนอมาในลักษณะเดียวกับพรรคประชาชน ตนไม่เห็นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบร้อน เพราะอาจจะส่งผลเสีย หากรอเวลาครบ 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติเดิมต่อร่างกฎหมายประชามติ จะไม่ทำให้เกิดการแตกหักระหว่างความเห็นของ 2 สภา เพราะส่วนตัวเห็นชอบกับการทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียวเช่นเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ดังนั้น จึงไม่ควรเร่งรีบกระบวนการโดยอ้างกลัวไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 

ณรารัฏฐ์  โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง
 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ