การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามเรื่องมาตรการสนับสนุนตลาดพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ซึ่งนายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นผู้ตั้งถามไปยังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พลังงาน) โดยระบุว่าไฟฟ้ามีส่วนสำคัญมากในการดำรงชีวิต การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันถือเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด มากกว่าภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ทุกคนจึงควรคำนึงว่าการเปลี่ยนจากการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ไปเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดนั้นมีความสำคัญมาก ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต และแม้ว่าไฟฟ้าจะเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ประเทศไทยยังละเลยให้ตลาดพลังงานถูกดำเนินการโดยกลุ่มทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่รายในรอบหลายปีที่ผ่านมา และสิ่งนี้ยิ่งถูกตอกย้ำอย่างชัดเจนมากขึ้นผ่านคำสั่งซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 3,600 เมกะวัตต์ ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน โดยโครงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และดำเนินการมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน สำหรับคำสั่งซื้อพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาด แต่หากสังเกตถึงรายละเอียดจะพบว่าเมื่อรัฐบาลมีโครงการซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเอกชน มักจะให้เหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนเองตั้งคำถามทุกครั้งว่าเป็นเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือของคนบางกลุ่ม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบสูงกว่าการใช้จริงอยู่แล้วเกือบ 50% ซึ่งสูงกว่าหลักการสำรองไฟฟ้าที่ทั่วโลกดำเนินการ หลายคนอาจมองว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองหากยิ่งเยอะจะยิ่งดี แต่ตนเองมองว่าการมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟให้กับประชาชนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 12 แห่ง ที่ทำสัญญาผลิตไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แต่มีโรงไฟฟ้า 8 แห่งที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตเลย แต่ยังได้เงินจากประชาชนผ่านการจ่ายค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ละการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าทุกเดือน ดังนั้นจึงต้องการทราบถึงมาตรการสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจให้ภาคครัวเรือนมาร่วมเป็นผู้ผลิตในตลาดพลังงานสะอาด และการจัดการกับข้อจำกัดบทบาทของภาคครัวเรือนในการเข้ามาผลิตพลังงานสะอาด จากกระทรวงพลังงาน
นายพีระพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวชี้แจงว่า กรณีเกิดการผูกขาดพลังงานหรือไม่นั้น ตนเองไม่ทราบเนื่องจากเพิ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ในสมัยรัฐบาลนี้ แต่ยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และมองว่าเป็นหน้าที่ตนเองจะต้องแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับข้อตกลงและสัญญาที่ผูกพันตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากติดตามการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ไม่เพียงค่าไฟฟ้า แต่รวมถึง น้ำมัน และก๊าซด้วย ส่วนมาตรการเกี่ยวกับการผลิตพลังงานสะอาดภาคครัวเรือนนั้น ขณะนี้ได้ให้กองทุนอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนเรื่องของเงินทุนหรือดอกเบี้ยเพื่อจัดหาซื้อหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาติดตั้งและจะสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงเงินกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ เป็นสิ่งรัฐบาลปัจจุบัน และกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าสิ่งที่ สว.ตั้งกระทู้ถามครั้งนี้ ตรงกันกับความต้องการของตนเอง รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เตรียมการเรื่องเงินทุน และเรื่องของการผลิตอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานระดับเดียวกับสินค้าทั่วโลกที่มาขายในประเทศไทย ซึ่งความมั่นคงด้านพลังงานในการตีความของตนเองไม่ใช่การมีพลังงานจำนวนมากที่เกินความจำเป็น แต่หมายถึงการที่ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง อย่างไรก็ตามประเด็นไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องนี้ และกำชับให้ตนเองดูแลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน สำหรับประชาชนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถมีไฟฟ้าใช้ด้วยตนเอง แต่หากผลิตแล้วสามารถขายกลับคืนไปถือเป็นผลพลอยได้
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง