4 ม.ค. 68 - ประธาน กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา แนะรัฐกำหนดจุดยืนประเทศไทย ต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา - จีน ชี้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจใน 4 – 8 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันมองปี 68 นี้ ไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง 

image

          นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2568 ในรายการ Law talk กับ สว. ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ สงครามรัสเซีย – ยูเครน และสงครามประเทศแถบตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งประเทศไทยแม้ไม่มีปัญหาโดยตรงกับประเทศที่ขัดแย้งแต่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจซึ่งค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา จัดเวทีสัมมนาพลิกโฉมภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก 2025 โดยเชิญนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นวิทยากรนั้น ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจประเทศไทยโดยเสนอแนะว่าในอดีตที่ผ่านมาการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศมุ่งเน้นเรื่องการทูต แต่ในปี ค.ศ. 2025 นี้การต่างประเทศของไทยจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะเดียวกันมองว่ารัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจน้อยไปรวมถึงยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเมือง มีข้อขัดแย้งการเมืองภายใน ซึ่งนักลงทุนจากต่างประเทศยังมีข้อกังวลว่านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ เพราะมีผลต่อการเข้ามาลงทุน ดังนั้น กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ต้องหาแนวทางศึกษาว่ารัฐบาลจะอยู่รอดครบเทอมได้อย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะต้องมีการวางแนวนโยบายในระยะ 4 - 8 ปีข้างหน้านี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางในการวางตัวเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจใน 4 – 8 ปี ข้างหน้าย่ำแย่ และขอฝากรัฐบาลว่าควรวางแผนให้ดีว่าความขัดแย้งรัฐบาลจะไปในทิศทางใดโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2568 ที่มีหนี้ครัวเรือนสูงรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งการที่รัฐบาลจะจัดงบประมาณแบบขาดดุลไปเรื่อย ๆ นั้น จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจเฟซบุ๊ก วุฒิสภา

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ