นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมร่วมกับคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะต้องผ่านการทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่า ส่วนตัวยืนยันว่าทำประชามติ 2 ครั้ง เพียงพอและสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนได้เสนอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. คำวินิจฉัยกลาง ศาล รัฐธรรมนูญที่ 4/2564 2. คำวินิจฉัยส่วนตน ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่4/2564 ทั้ง 9 คน 3. แผนผังสรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่จัดทำโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 4. ความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต และ 5. ผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.67
นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าคณะกรรมการชุดนี้เคยวินิจฉัยเมื่อช่วงต้นปีว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ในครั้งนั้นคณะกรรมการฯ ได้วินิจฉัยจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เพียงอย่างเดียว แต่การพิจารณาครั้งนี้ ตนได้จัดทำเอกสารเพิ่มเติมด้วย ซึ่งต้องติดตามต่อว่าภายหลังเสร็จสิ้นการหารือแล้วคณะกรรมการชุดนี้จะจัดทำข้อเสนอแนะถึงประธานรัฐสภาฯ ต่อไปอย่างไร และคาดว่าจะได้รับทราบคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาอย่างไม่เป็นทางการถึงการจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนสิ้นปีนี้
นายพริษฐ์ กล่าวถึงข้อกังวลว่าการทำประชามติ 2 ครั้ง ถือว่าไม่ครบ 3 ครั้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่า ตนยืนยันว่าการทำประชามติ 2 ครั้ง ถือว่าครบถ้วนและไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากทุกคนเดินหน้าตามแผนนี้ ก็ถือเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาว่าจะร้องขอให้วินิจฉัยได้ ก็จะไม่กระทบต่อกรอบเวลา 180 วัน ที่สภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามความเห็นเดิม แต่หากยืนยันตามแผนทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ไม่สามารถขยับกรอบเวลาได้อยู่ดี ดังนั้น หากเลือกเดินหน้าทำประชามติ 2 ครั้ง และบรรจุเข้าระเบียบวาระโดยผ่านความเห็นชอบไปได้นั้น แม้จะมีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิยื่นขอให้ตีความ ก็สามารถทำได้ภายในกรอบเวลา 180 วัน ทั้งนี้ ตนคาดว่าในครึ่งหลังของปี 68 จะสามารถจัดทำประชามติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกได้
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง