25 พ.ย. 67 - นายนิกร ในฐานะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ยืนยันกฎหมายประชามติ ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ชี้หากเป็นกฎหมายการเงิน ต้องมีการทักท้วงกันนานแล้ว 

image

          นายนิกร จำนง กรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อลดเวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน โดยตนเชื่อว่าไม่เป็นกฎหมายการเงิน เพราะการสงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอเข้ามาตนตรวจสอบดูแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามชี้ไปแล้วว่า ไม่เป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งหลักการในการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ หากสมมติว่ามีใครสงสัยหรือประธานสภาฯ มองเห็นเองว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็จะชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน และเมื่อประธานสภาฯ ชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน ผู้ที่ยื่นอาจจะมีข้อสงสัยว่าไม่เป็นกฎหมายการเงิน เมื่อไม่เป็น ตามกลไกของสภาฯ หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องเชิญประธานกรรมาธิการทุกคณะมาตัดสินร่วมกับประธานสภาฯ แต่เลยขั้นตอนตรงนั้นมาแล้ว และในระหว่างที่เราพิจารณาอาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากไม่เป็นกฎหมายการเงิน ก็กลายเป็นกฎหมายการเงินขึ้นมา ก่อนจะโหวตวาระ 3 หากมีข้อสงสัยก็สามารถทำได้อีกครั้งหนึ่ง แต่หากสภาฯ โหวตวาระ 3 ไปแล้ว ซึ่งไม่มีข้อสงสัย จึงถือว่าเลยจุดนั้นมาแล้ว และเป็นร่างกฎหมายที่พิจารณาเห็นชอบกันหมดแล้ว โดยไม่มีใครชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน
นายนิกร กล่าวต่อว่า ตอนที่เสนอไปวุฒิสภา ประธานสภาฯ ยืนยันไปยังประธานวุฒิสภาว่าไม่ใช่ร่างกฎหมายการเงิน ซึ่งประธานวุฒิสภาก็นำเข้าพิจารณาในชั้นนั้น อาจจะมีข้อสงสัยได้ แต่ก็ไม่มีข้อสงสัย เพราะไม่ใช่ร่างกฎหมายการเงิน เมื่อถึงตอนนี้ถือว่าเลยเวลาข้อสงสัยมาแล้ว ซึ่งในความเห็นส่วนตัว หากเชิญประธานกรรมาธิการทุกคณะมาร่วมกันพิจารณาแล้วใช้เสียงข้างมาก อาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่เป็นร่างกฎหมายการเงิน หรือแม้จะเป็นก็เลยเวลาที่จะทักท้วงไป ซึ่งถือว่าสายไปแล้ว
          นายนิกร กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วง เพราะอยากให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีผลโดยเร็ว ๆ หากเป็นแบบนี้ให้ไปตามเส้นทางจะดีกว่า เพราะหากมีปัญหาก็จะรออีก 180 วัน และไม่ใช่แค่นั้น ยังมีขั้นตอนการเสนอทูลเกล้าฯ ขั้นตอนการทำกฎหมายลูกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก ต่อจากนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 100 วัน ในการทำประชามติครั้งแรก ตนจึงประเมินว่าน่าจะทำประชามติต้นเดือนมกราคมปี 2569 เท่ากับหายไป 1 ปี ซึ่งตนไม่เห็นด้วย แต่หากเสี่ยงผิดกฎหมายแม้ไม่ชอบก็ต้องยอมรับ
          เมื่อถามว่า แสดงว่ามีโอกาสที่จะไปไกลกว่านี้ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกอย่างไรก็ผ่าน เพราะใช้รูปแบบอย่างง่ายของ สส. ก็จะลงประชามติปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 แต่น่าจะเป็นต้นปี 2569 มากกว่า ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อพักร่างไว้ 180 วัน บวกกับทำประชามติอีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน ดังนั้น เมื่อรวมช่วงรอยต่อและการเสนอทูลเกล้าฯ จะใช้เวลานานพอสมควร เชื่อว่าใช้เวลา 1 ปี พอดี

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ