นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงผลการพิจารณาศึกษากรณีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ MOU 44 กับการเจรจาพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย โดยเชิญผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อ กมธ. อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับช้อนกัน ซึ่งยังเป็นเพียงการกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทับช้อนอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกันและกัน จึงนํามาสู่การลงนาม MOU 44 ซึ่งเป็นการตกลงว่าจะเจรจาบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และยืนยันว่าการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลต้องควบคู่ไปกับการเจรจาผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ ไม่สามารถแยกจากกันได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันกัมพูชามีความตั้งใจจะเจรจาการแบ่งปันผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติมากกว่า ประกอบกับสถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความคืบหน้าของการเจรจาเกิดความล่าช้า
ด้าน สภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่าการมีอยู่ของ MOU 44 ไม่ได้สร้างปัญหา หรือเปิดช่องให้เกิดการเสียดินแดน เพียงแต่เป็นข้อตกลงเพื่อสร้างบรรทัดฐานการพูดคุยที่ยึดถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การเจรจาใด ๆ ต้องผ่านความเห็นชอบของทั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการลักลอบเจรจาหรือแบ่งปันผลประโยชน์ใด
ภายหลังการรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กมธ.ได้สอบถามเพิ่มเติมในประเด็นการทํางานของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะทำงานที่เคยได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นปกติ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการเสนอแต่งตั้งตามโครงสร้างเดิม แต่ยืนยันว่าข้าราชการประจำจะมีการปฏิบัติงานต่อเนื่องจากเดิม ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมภายหลังการจัดทำ MOU เพียง 2 ครั้ง โดยมักทำงานผ่านคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม (Sub-JTC) เป็นหลัก แต่พบความล่าช้า เนื่องจากปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนเส้นเขตแดนทางทะเลและอธิปไตยของไทย ปัจจุบันไทยยืนยันสิทธิ์และอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเลอาณาเขตของไทย ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพื้นที่ข้อพิพาทไม่กระทบต่อเกาะกูดของไทย ซึ่งรัฐไทยได้มีอธิปไตยเหนือเกาะกูดมาโดยตลอด อีกทั้งกองทัพไทย ยังสามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่เหนือพื้นที่ทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด โดยไม่เกิดความขัดแย้งใดๆ ขณะที่ความพยายามในการยกเลิก MOU 44 แรกเริ่ม ครม.มีมติเมื่อปี 2552 ให้ยกเลิกจริง แต่เมื่อมีการศึกษาผลกระทบทุกฝ่ายได้ให้ความเห็นตรงกันว่าสมควรต้องคงไว้ เมื่อเสนอผลการศึกษาต่อ ครม.ปี 2557 จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกมติเดิมนั้นไป
สำหรับการบริหารทรัพยากรและสิทธิ์สัมปทาน พ.ศ. 2511 รัฐบาลจะนำรูปแบบของการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างไทย - มาเลเซียมาปรับใช้ คือ เมื่อการเจรจาระหว่างประเทศคู่พิพาทจบลง ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมถึงการเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประเทศพิพาท หากผู้รับสัมปทานเดิมไม่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาผู้รับสัมปทานใหม่ต่อไป ทั้งนี้ การจะดำเนินการยกเลิกสัญญาสัมปทานเดิมเลย เกรงว่าจะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางกฎหมายอย่างรอบคอบ ขณะที่การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ทางรัฐบาลไทยและกัมพูชาต้องรอสิ้นสุดการเจรจาจึงจะสามารถดำเนินการสำรวจได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ กมธ.มีความห่วงใยต่อการให้ข้อมูลของข้าราชการการเมือง หรือ ครม.ที่ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับข้อมูลของข้าราชการประจำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม และแสดงความกังวลหากจะให้น้ำหนักต่อเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชากล่าวอ้างในระดับที่เทียบเท่ากับเส้นไหล่ทวีปตามที่ไทยกำหนดขึ้น เนื่องจากการกล่าวอ้างของกัมพูชาไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่ของไทยดำเนินการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กมธ.จะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
21 พ.ย.67 - กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สผ. เผย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันกรณี MOU 44 รัฐไทยมีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะแนวเส้นไหล่ทวีปไทย - กัมพูชา ยังไม่มีการยอมรับ