คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) จัดโครงการรณรงค์ แรงงานแพลตฟอร์ม& แรงงานข้ามชาติ: หนทางสู่การจัดตั้งและการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ที่รงแรมเดอะควอเตอร์ ลาดพร้าว บายยูเอชจี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมี นายสหัสวัต คุ้มคง โฆษกกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงานระบุถึงความสำคัญของการจัดโครงการเนื่องจากในสังคมไทยยังมีแรงงานที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานที่ประเทศทั่วโลกต่างให้การยอมรับและเป็นหนึ่งในอนุสัญญาหลักที่รณรงค์ให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน และดำเนินการส่งเสริมปกป้องคุ้มครองอย่างจริงจัง แต่ในประเทศประเทศไทยกลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันไทยยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายแรงงานที่ล้าสมัยไม่ทันกับสถานการณ์และรูปแบบการจ้างงานที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และจากสองปัญหาดังกล่าวหน่วยงานรัฐและคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร องค์กรแรงงาน และองค์กรภาคประชาสังคม ต่างพยายามค้นหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และหาทางออกให้กับปัญหานี้ ให้ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ นายเซีย จำปาทอง และ นายชินโชติ แสงสังข์ รองประธานกรรมาธิการได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์เรื่องเสรีภาพการรวมกลุ่มและศักดิ์ศรีของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติร่วมกับ ผู้แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และปลัดกระทรวงแรงงาน โครงการนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายคุณภาพชีวิตความเป็นแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการนำเสนอกล่องเครื่องมือ (Toolbox) เพื่อเสรีภาพการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง และเสนอคู่มือการจัดตั้งแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ และแอพพลิเคชั่นคอนเน็ค (Connect App) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมเสรีภาพการจัดตั้ง เพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรอง และสิทธิของแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรวมกลุ่มของคนงานกิ๊ก(Gig Worker) และแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนส่งเสริมและขับเคลื่อนโครงการรณรงค์การเข้าถึงสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ของแรงงานแผ่นฟอร์มและแรงงานข้ามชาติผู้ ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์มนุษยชนและมีสถานะไม่เป็นแรงงาน นอกจากนี้ มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันแรงงานฯ และองค์กรคนงานระดับรากหญ้า ในการส่งเสริมเสรีภาพการรวมกลุ่มและเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรเดอร์ พนักงานทำความสะอาดแพลตฟอร์ม พนักงานนวดแพลตฟอร์ม แรงงานข้ามชาติ ตัวแทนองค์กรภาครัฐ นักวิชาการ นักกฎหมาย พรรคการเมือง สส. สว. สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ผู้แทนสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 100 คน
ณรารัฏฐ์ โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง