5 พ.ย.67 - กมธ.การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง อนุ กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย เดินหน้าศึกษาผลกระทบในการย้ายท่าเรือกรุงเทพในทุกมิติ หลังระบบโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือไม่สอดคล้องกับผังเมืองปัจจุบัน  

image

            นายภัณฑิล น่วมเจิม อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กล่าวถึงกรอบการทำงานของ อนุ กมธ.ว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติส่งญัตติเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท่าเรือของประเทศไทย ให้ กมธ.ศึกษา กำหนดระยะเวลา 90 วัน กมธ.จึงได้แต่งตั้ง อนุ กมธ.ดังกล่าวขึ้น เพื่อศึกษาผลกระทบในการย้ายท่าเรือกรุงเทพในมิติต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การบรรเทาสาธารณภัย การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว และรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทำความเข้าใจสภาพปัญหาและความท้าทายที่เกี่ยวเนื่องกับการย้ายท่าเรือกรุงเทพ โดยสอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และอาจนำข้อสรุปจากการศึกษาของ อนุ กมธ.ไปต่อยอด เพื่อพัฒนาท่าเรือที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศไทยได้ โดยมุ่งศึกษาเรียนรู้ปัญหาในอดีต เพื่อป้องกันปัญหาท่าเรือในอนาคต เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือกรุงเทพ ไม่สอดคล้องกับผังเมืองกรุงเทพในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพอยู่เขตใจกลางเมือง ก่อให้เกิดปัญหา อาทิ รถติด มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง และปัญหาโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งอาจทำให้เกิดสาธารณภัย รวมถึงปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งจากการเพิ่มสูงขึ้นจากระดับน้ำทะเล ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาที่ดินในพื้นที่มีราคาที่สูง หากนำที่ดินไปทำประโยชน์อย่างอื่น อาจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่านี้
          ทั้งนี้ ปัจจุบันจากข้อมูลงบการเงิน พ.ศ. 2566 พบว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีทรัพย์สินไม่หมุนเวียนประเภทรายได้ค่าเช่ารอเรียกเก็บ 16,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ารอเรียกเก็บจากใคร เพราะในปี พ.ศ.2566 เรียกเก็บค่าเช่าได้เพียง 1,700 บาท เท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือกรุงเทพมีที่ดินนอกเขตศุลกากร จำนวน 674.3 ไร่ และปล่อยให้เก็บค่าเช่ากันเองจำนวนมาก โดยที่การท่าเรือไม่ได้เก็บเอง รายได้ค่าเช่าที่ดินของการท่าเรือกรุงเทพจะมาจากตลาดคลองเตย, แฟลตเคหะ, อาคารพาณิชย์, ชุมชนแออัดจำนวน 4 ชุมชน, บริษัท ปตท. สำนักงานพระโขนง, ที่ดินเปล่า ส่วนพื้นที่สาธารณูปการ (พื้นที่ของส่วนราชการ) งดเว้นค่าเช่า รวมแล้วจะเป็น 300 ล้านบาทต่อปี เทียบกับมูลค่าที่ดินนั้นถือว่าต่ำมาก นอกจากนี้ ปัญหาตลาดคลองเตย ที่คนกรุงเทพไม่อยากขับรถผ่าน เพราะมีปัญหารถติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาอิทธิพลเถื่อน และปัญหาความมั่นคงที่อยู่อาศัยบนพื้นที่การท่าเรือ อาทิ. โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) , โครงการ Smart Community ที่จะสร้างตึก 30 ชิ้น นอกจากผู้อยู่อาศัยเดิมจะไม่สะดวกในการขึ้นอยู่ตึกสูงแล้ว ยังกังวลเกี่ยวกับค่าส่วนกลางอีกด้วย โดยกระแสข่าวแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ที่มีมานานหลายปี ส่งผลให้ประชาชนกังวลว่าจะนำที่ไปทำอะไร และประชาชนได้มีส่วนร่วมกับโครงการเหล่านั้นจริงหรือไม่ จากปัญหาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าไม่ควรนำที่ของท่าเรือที่เป็นที่สาธารณูปการ มาพัฒนาเชิงพาณิชย์เช่น ห้าง โรงแรม หรือคาสิโน เพื่อเอื้อนายทุน แต่ควรจะนำมาทำสาธารณประโยชน์ เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น


อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ