23 ก.ค. 67 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับหนังสือจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ขอสภาสนับสนุนร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามผู้ปกครองเฆี่ยนตี หรือลงโทษด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ หวังยุติความรุนแรง สอดคล้องอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก

image

            นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับหนังสือจากนางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยและคณะ ขอสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 1567 (2) เกี่ยวกับการลงโทษเด็ก ที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล โดยเป็นการแก้ไขจากการบัญญัติว่า “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” แก้เป็น “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า”
            นางสาววาสนา กล่าวว่า เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าวได้กำหนดว่า ให้ผู้ใช้อำนาจในการปกครองมีสิทธิที่จะลงโทษเด็กตามสมควร เพื่อเป็นการว่ากล่าวสั่งสอน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้มีการใช้มาเป็นเวลานาน ขณะที่จากการวิจัยหลายเรื่องพบข้อเท็จจริงว่าการที่เด็กถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบระยะยาว จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายที่จะทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีช่องว่างใดๆ ที่ทำให้ผู้ปกครองใช้วิธีการสั่งสอนลูกด้วยการลงโทษหรือด้วยวิธีการรุนแรงไม่ว่าจะรูปแบบใด ขณะที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยได้ลงนามร่วมเป็นภาคีมีการให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะไม่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรง แต่ในปัจจุบันกลับยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าประเทศไทยยังเปิดช่องให้ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงได้ ดังนั้นหากสามารถแก้ไขกฎหมาย ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อส่งสัญญาณในสังคมในการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการด้านการบริหาร มาตรการทางสังคมและมาตราการทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นความท้าทายเพราะยังมีประชาชนที่ยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชน จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจและปลดล็อคกฎหมายให้มีการแก้ไข เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยจึงขอให้สภาผู้แทนราษฎรให้การสนับสนุนผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย
           ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าตนในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งใจอ่านรายงานความเห็นของเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยและจะให้ฝ่ายวิชาการของสภาผู้แทนราษฎรบรรจุลงเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเมื่อร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 1567(2) เข้าสู่การพิจารณาของสภา ขณะเดียวกันตนในฐานะที่เป็นพ่อ สนับสนุนอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดช่องว่างในการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการสร้างการถกเถียง และคาดว่าอาจเริ่มต้นที่บุคลากรของสภาผู้แทนราษฎรด้วยการจัดสัมมนาเพื่อนำไปสู่การรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กต่อไป

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ