18 ก.ค. 68 - สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคอีสาน ตอนบน ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรค หวังยกระดับศักยภาพของจังหวัดในทุกมิติ สู่เมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูมิภาค

 

image

            คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ตอนบน) ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ติดตามความคืบหน้าและรับฟังปัญหาในโครงการพัฒนาที่สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อยกระดับศักยภาพของจังหวัดในทุกมิติ

           โอกาสนี้ คณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่างหินสามวาฬซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ โดยได้ร่วมประชุมและรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ คือแนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เช่น การเสนอให้มีการจัดหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้นให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน เป็นต้น จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ก่อสร้าง โครงการบึงกาฬแลนด์มาร์คและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การพัฒนาผังเมืองรวมใหม่ของจังหวัดบึงกาฬ โดยโครงการนี้ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการพักผ่อนและจัดกิจกรรมของประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะเป็นปอดแห่งใหม่ที่สำคัญของเมืองในอนาคต 

            นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เยี่ยมชมความคืบหน้าของเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของภูมิภาค คือโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5(บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงจังหวัดบึงกาฬของไทยเข้ากับแขวงบอลิคำไซ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) โดยสะพานแห่งนี้จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจเส้นใหม่ที่จะเปิดประตูการค้า การลงทุน และการขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างสองประเทศและภูมิภาคอินโดจีน สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างมหาศาล 

            นอกจากการติดตามการขับเคลื่อนโครงการสำคัญดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการฯ ได้พบปะประชาชนในพื้นที่ โดยในช่วงของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะสมาชิกวุฒิสภา กับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และตัวแทนภาคประชาชน ได้มียกประเด็นปัญหาและความต้องการของพื้นที่ขึ้นมานำเสนออย่างกว้างขวาง ทั้งปัญหายาเสพติดที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและแก้ไขอย่างจริงจัง แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการเกษตรรวมถึงราคาสินค้าเกษตร การเตรียมความพร้อมและการจัดการสาธารณภัย การบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ปัญหาช้างป่าที่บุกรุกเข้าทำลายพืชผลและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน และข้อเสนอการขอคืนพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหนองกุดทิง เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของจังหวัด

            ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพรวมการพัฒนาของจังหวัดบึงกาฬที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการต่อยอดและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญสิ่งที่กำลังสร้างใหม่ คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อวางรากฐานทางเศรษฐกิจสำหรับอนาคต สำหรับข้อมูลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการลงพื้นที่ จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการต่างๆ สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย อันจะส่งผลให้จังหวัดบึงกาฬกลายเป็นเมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้อย่างเต็มศักยภาพ

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ