29 เม.ย. 68 - สส.ปกรณ์วุฒิ พรรคประชาชน ชี้เป็นสัญญาณดี รัฐบาล-หน่วยงาน เข้าใจถึงความจำเป็นที่ควรมี Cell Broadcast เร่งด่วน ระบุต้องมีความคล่องตัว สามารถสั่งอนุมัติข้อความได้อย่างรวดเร็ว

image

          นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการจัดทำระบบเตือนภัยแห่งชาติ ผ่านเทคโนโลยีด้านสื่อสารโทรคมนาคม เปิดเผยถึงการประชุมวาระพิจารณาเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ว่า มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ นี้มานานแล้ว และได้จัดทำเนื้อหาทั้งหมดเกือบเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรายงาน แต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นมาก่อน ทุกคนในคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะขยายระยะเวลา เพื่อจะให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษาที่ใส่ไว้ในรายงาน และศึกษาว่าในอนาคตระบบเตือนภัยที่ควรมีจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแผ่นดินไหว แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย ควรถอดบทเรียนสิ่งที่เห็นในเหตุการณ์แผ่นดินไหว และวันนี้เป็นการนัดประชุมครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ความจริงอยากจะนัดประชุมเร็วกว่านี้ แต่ก็เข้าใจว่าหลายหน่วยงานคงมีงานหรือภาระค่อนข้างเยอะ จึงเว้นระยะ เนื่องจากเป็นช่วงปิดสมัยประชุมด้วย และรอให้หน่วยงานมีความพร้อม ซึ่งคงจะมีการถามคำถามเบื้องต้นกับแต่ละหน่วยงานเรื่องของการถอดบทเรียนที่ในแต่ละหน่วยงานต้องการความสนับสนุน เพื่อทำให้ระบบเตือนภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยเชิญ 6 หน่วยงาน ได้แก่ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
          ส่วนเรื่อง Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งข้อความถึงทุกคนในพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบ SMS จะมีการติดตามอย่างไรบ้าง เพราะต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการทดสอบระบบด้วย นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกหน่วยงานมาประชุมแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับทราบความคืบหน้าค่อนข้างดี และเป็นสัญญาณที่ดีว่าทางรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้าใจหลังจากที่เกิดเหตุเหตุการณ์ขึ้น ว่าระบบนี้ควรมีโดยเร่งด่วนจริง ๆ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ รับปากว่าภายในเดือนกรกฎาคมจะสามารถใช้ได้ และในเดือนพฤษภาคมก็จะมีการทดสอบระบบ แต่ยังคงเป็นระบบ Virtual คือ ตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานรัฐต้องใช้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เสร็จ จึงต้องให้ทางเอกชนทำ Virtual ในซอฟต์แวร์ขึ้นมาก่อน เพื่อทดสอบว่าใช้ได้จริง และทราบว่าได้มีการคุยกับ บริษัท แอปเปิ้ล เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดี และหวังว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
          นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ตนและคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ คือ  นอกเหนือจากเรื่องเทคโนโลยี คือ เรื่องของกระบวนการในการสั่งการที่จำเป็นต้องคล่องตัว หมายถึง ต่อให้ส่งข้อความให้ประชาชนได้ภายใน 5 วินาที แต่กว่าจะอนุมัติการส่งได้ ต้องผ่านบุคคลหลายคน มีขั้นตอนมาก จึงทำให้ระบบเตือนภัยไม่มีประสิทธิภาพอยู่ดี ซึ่งทางหน่วยงานก็รับปากและบอกว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้ไปดูงานที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เห็นว่ามีปัญหาเรื่องอำนาจการสั่งการ ว่าต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงที่จะอนุมัติข้อความ ตนจึงให้ข้อสังเกตไปกับหน่วยงาน ซึ่งมีการพูดคุยกันเบื้องต้นว่าจะมีการขยายกรอบอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ หรืออาจจะต้องไปแก้กฎระเบียบบางข้อในระดับที่ไม่ต้องผ่านสภาฯ ซึ่งหากติดต่อบุคคลที่ 1 หรือ 2 ไม่ได้ อาจจะติดต่อไปถึงผู้อำนวยการหน่วย ที่อยู่ในห้องสั่งการจริง ๆ ว่าให้อำนาจโดยชอบธรรมทางกฎหมายที่สามารถทำได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหากให้บุคคลที่อยู่หน้างานสามารถตัดสินใจ ซึ่งจะได้เห็นข้อมูลทั้งหมด และทราบอยู่แล้วว่าสิ่งนี้ควรจะเตือนเร่งด่วนหรือไม่

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ