นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นำคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาดูงานท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีเรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้การต้อนรับ
คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปปัญหาอุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดในการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถรองรองรับตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต (Twenty foot Equivalent Unit: TEU) 11.1 ล้าน TEU มีพื้นที่ในระยะที่ 1 และ 2 รวม 8,752 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หากเปิดให้บริการจะเพิ่มขีดความสามารถจากเดิม 11.1 ล้าน TEU ต่อปี เป็น 18.1 ล้าน TEU ต่อปี พร้อมเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบัง จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ตลอดจนลดต้นทุนขนส่งรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สามารถประหยัดค่าขนส่งได้มากกว่า 250,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบับ ระยะที่ 3 เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน วงเงินลงทุน 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเอกชน 53% และการท่าเรือแห่งประเทศไทย 47%
จากนั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการท่าเรือท่องเที่ยว ท่าเรือสำราญ ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ การเชื่อมต่อระบบขนส่งโลจิสติกส์ทางเรือ ทางราง ทางถนน รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
นายวิสาร กล่าวถึงที่มาของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับเดิม เป็นกฎหมายที่มีมานาน ตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน การลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นของบุคลากรท่าเรือแหลมฉบัง ที่เห็นได้ชัดพบว่ามีข้อขัดข้องสำคัญ คือ การบริหารจัดการที่ล้าสมัย เช่น ค่าภาระ ปกติแล้วเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากแก้กฎหมายฉบับนี้สำเร็จจะเป็นอำนาจของผู้อำนวยการท่าเรือฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบอร์ดการท่าเรือฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ครม. อีกชั้นหนึ่ง โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นความทันสมัยของท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งระยะ 1 และ 2 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนความก้าวหน้าของร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไปอีกประมาณหนึ่งเดือนเศษ และจะสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถพิจารณาในวาระสองและวาระสามได้ ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากคาดการณ์ว่าคณะกรรมาธิการฯ จะสามารถพิจารณาแล้วเสร็จได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนสาเหตุที่การพิจารณาจะแล้วเสร็จโดยเร็ว มาจากการที่ สส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 386 เสียง
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ กล่าวถึงสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เกิดจากการที่การท่าเรือฯ ปรับรูปแบบธุรกิจ ที่แต่เดิมให้บริการขนส่งสินค้าเป็นหลัก แต่ในวันนี้ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่การบริหารจัดการหน้าและหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจสมัยใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะบังคับใช้มายาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งการบริหารจัดการหลังท่าเทียบเรือนั้น จะเกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้า จากท่าเทียบเรือไปสู่ผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะให้บทบาทของการท่าเรือฯ มีอำนาจและขอบเขตที่กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
เพจเฟซบุ๊ก การท่าเรือแห่งประเทศไทย / ภาพ
