นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.)กล่าวถึง ผลการประกาศดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2567 ว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เผยแพร่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2567 โดยมีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 180 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย ได้ 34 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 107 ซึ่งคะแนนลดลงจากปี 2566 ที่ได้ 35 คะแนน แต่อันดับเพิ่มขึ้น จากที่ได้อันดับ 108 ผลดังกล่าวบ่งชี้ว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาและความท้าทายในการแก้ไขปัญหาทุจริต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของประเทศไทย รวมถึงนักลงทุนจากต่างชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในระบบราชการ การที่ประเทศไทยยังคงได้คะแนนในระดับต่ำลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจการลงทุน คุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลควรตระหนักและให้ความสำคัญถึงปัญหาดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงของประเทศไทย เพื่อเป็นการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยควรมีมาตรการเชิงรุก ดังนี้ 1.สร้างความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐโดยปรับปรุงระบบข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงการใช้จ่ายงบประมาณโครงการภาครัฐและขบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างโปร่งใส รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดขั้นตอนที่เอื้อต่อการเรียกรับสินบน 2.เสริมสร้างมาตรการการป้องกันและลงโทษที่เข้มงวดขึ้น โดยปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ทันสมัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตให้รวดเร็วขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูง และนักการเมือง 3.เพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในการตรวจสอบหรือสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการของภาครัฐ การคุ้มครองสื่อมวลชนและผู้ทุจริตให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้อย่างไม่ถูกคุกคาม 4.ปลูกฝังวัฒนธรรมต่อต้านตั้งแต่ระดับเยาวชนโดยบรรจุหลักสูตรต่อต้านระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาการจัดทำโครงการสร้างจิตรสำนึกต้านคอร์รัปชันในภาครัฐและภาคเอกชน และ 5.ยกระดับการประเมินผลความร่วมมือระหว่างประเทศโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรสากลในการพัฒนามาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน และการนำแนวทางจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาใช้
สว.สุทนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับคะแนน CPI ไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลขในการรายงานสากลเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักลงทุนและประชาคมโลก ว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังในการต่อต้านการทุจริต รัฐบาลภาคเอกชนและประชาชน มีส่วนร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงขอฝากข้อเสนอแนะนี้ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ณรารัฎฐ์ โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง