4 ก.พ.68- ที่ประชุมวุฒิสภา รับทราบรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฯ ปีงบประมาณ 2566 ย้ำความสำคัญกับการวางผังเมืองทุกระดับหวังนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยึด “ธรรมนูญผังเมือง” เป็นแนวทางจัดทำผังเมืองรวมระดับจังหวัด ระดับชุมชน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

image

        ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง  น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายพงษ์นรา  เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวชี้แจงถึง สถานการณ์ด้านการผังเมืองของประเทศไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า กรมโยธาฯ ให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองทุกระดับที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวางผังเมืองและการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในด้านการลดผลกระทบโดยการวางแผน การปรับตัว และการวางกฎระเบียบ เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับเมือง ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 4 กำหนดให้ “ผังน้ำ” มีความหมายถึง ผังน้ำตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ หรือแผนผังแสดงเขตการพัฒนาแหล่งน้ำ และพื้นที่น้ำหลาก ซึ่งการจัดทำผังน้ำจะเชื่อมโยงกับการวางและจัดทำผังเมืองในทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศ ภาค จังหวัด และผังเมืองรวม ทั้งนี้ ในปี 2566 ประธานกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ เรื่อง ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. 2566 มีผลปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.666 เป็นต้นไป นอกจากนี้ มีผังเมืองรวมที่ประกาศใช้บังคับแล้ว 341 ฉบับ แบ่งเป็นผังเมืองรวมจังหวัด 70 ฉบับ ผังเมืองรวม/ผังเมืองรวมชุมชน 270 ฉบับ และผังเมืองเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 1 ฉบับ ขณะที่มีผังเมืองรวมที่กำลังจัดทำ 339 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยประกาศใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ฉบับ ส่วนด้านการพัฒนาเมือง มีการพัฒนาเมืองด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ 54 จังหวัด และดำเนินการแล้ว 86 โครงการ สำหรับการจัดทำภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง 7,255 ตำบลทั่วประเทศ นำไปสู่การเสนอแนะโครงการ/กิจกรรมพัฒนาจำนวน 88,085 โครงการ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ 29,248 โครงการ และดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว 1,745 โครงการ นอกจากนี้ ได้จัดทำระบบตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง (Landuse Plan) และจัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการแบบอัจฉริยะซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการแก่ประชาชนให้สามารถรับบริการได้ที่จุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ที่สะดวก รวดเร็ว และครบถ้วน

        นายวีรยุทธ  สร้อยทอง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอภิปรายว่า ตนมีข้อกังวลถึงการวางผังเมืองพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการรุกพื้นที่ชุมชนของพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบต่อประชาชน อาทิ ปัญหาขยะและน้ำเสีย ปัญหาแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และปัญหาน้ำมันรั่วไหล ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนการจัดทำผังเมืองให้เป็น “ธรรมนูญท้องถิ่น” ขณะที่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องมีความเข้มงวดสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง รวมถึงควรมีการประเมินระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ด้วย

        นางสาวรัชนีกร  ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอภิปรายว่า ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบจากการเติบโตของเมืองที่ขาดการวางแผน โดยเฉพาะภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือน ต.ค.67 สะท้อนให้เห็นว่าเมืองที่ไม่ยืดหยุ่น ขาดการวางแผนที่ดี ส่งผลให้การวางผังเมืองไม่สอดคล้องกันตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงชุมชน ดังนั้น ตนมีข้อเสนอแนะให้กำหนดกรอบการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัดให้เข้มงวด ไม่ล่าช้า และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องมีอำนาจหน้าที่และมีส่วนร่วมการปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับความต้องของประชาชนในพื้นที่

        ทั้งนี้ ภายหลังจากสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายรายงานฉบับนี้อย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภา ได้รับทราบรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมืองฯ

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ