ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน เนื่องจากข้อบังคับฯ ฉบับเดิม ยังมีบางส่วนสมควรปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส และควรปรับให้เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างข้อบังคับฯ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 415 เสียง ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณา 18 คน
นายพริษฐ์ ได้เสนอหลักการและเหตุผลต่อรัฐสภาว่า ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มุ่งปรับแก้ ใน 4 ประเด็นหลัก โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยเปิดให้สมาชิกรัฐสภามีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภามาทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภามีมติรับหลักการ และเงื่อนไขในการพ้นจากตำแหน่งของกรรมาธิการ ซึ่งการแก้ไขในข้อนี้เป็นการปลดล็อกเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเมืองการปกครอง และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นในชั้นกรรมาธิการ ช่วยให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความรอบด้านและรอบคอบมากขึ้น สอดคล้องกับกติกาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในการมีสัดส่วนของบุคคลภายนอกร่วมยกร่างพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน และยังสอดคล้องกับกลไกที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. ที่ให้มีการเปิดพื้นที่ให้มีตัวแทนคนนอกเข้ามาทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ยังแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนัดประชุม การแจ้งนัดประชุม การเผยแพร่หนังสือนัดประชุม ระเบียบวาระการประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการที่ประธานรัฐสภาเห็นสมควรจะบรรจุเรื่องใดเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ตลอดจนยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เช่น ในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น
ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ในสัดส่วนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง มองว่า การเข้ามามีส่วนร่วมทำได้หลายวิธีและ สส. สว. ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน การแก้ไขในข้อ 123 ที่ให้มีบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในวาระที่2 อาจไม่เหมาะสมเพราะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมองว่าการเสนอให้มีสัดส่วนคนนอกเหมือนเป็นการตั้งธงว่าต้องการให้บุคคลที่อยากให้เป็นกรรรมาธิการที่แม้ในอนาคตบุคคลนั้นขาดสมาชิกภาพ ก็ยังร่วมเป็นกรรมาธิการได้ใช่หรือไม่ อีกทั้งหากบุคคลภายนอกเป็นการฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะกระทบความสมดุลของโครงสร้างกรรมาธิการ และเป็นการลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ หรืออาจนำไปสู่การไม่ตั้งสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวเป็นกรรมาธิการก็ได้ใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่ยังสนับสนุนร่างข้อบังคับฉบับแก้ไข โดยมองว่าอย่ากังวลจนเกินเหตุที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และอย่าเห็นประชาชนเป็นคนนอก เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
ด้านสมาชิกรัฐสภา ในสัดส่วนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำว่า การแก้ไขข้อบังคับฯ ให้ใช้ประโยชน์จากอิเล็กทรอนิกส์หรือการยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่จำเป็นนั้น ไม่มีปัญหา แต่มองเช่นเดียวกับทางสมาชิกวุฒิสภาว่าการแก้ไขในข้อ 123 จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต และคงไม่เหมาะสมหากมีการแก้ไขข้อ 79 เปิดช่องให้บุคคลที่ขาดจากความเป็นสมาชิกภาพจากการผิดจริยธรรมยังทำหน้าที่กรรมาธิการต่อไป ดังนั้น แม้ว่าพรรคจะเห็นด้วยกับการแก้ไขในบางข้อ แต่ในส่วนนี้พรรคมิอาจรับได้ พรรคจึงมีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับฯ ฉบับนี้ แต่ทางด้านของสมาชิกรัฐสภาในสัดส่วนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาชน ยืนยันว่า การแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการสะท้อนว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และเชื่อว่าสัดส่วนจากบุคคลภายนอกเช่นนักวิชาการ อาจมีความเชี่ยวชาญมากกว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งที่เข้าสภามาได้ไม่นาน
เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง