นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ 19 จังหวัด นำโดย นายนิวัติ ธัญญะชาติ เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการศึกษา เสนอแนวทาง และเร่งรัดการแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในกรณีการระบาดของปลาหมอคางคำ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชน ประชาชน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความมันคงทางอาหารโดยรวมอย่างร้ายแรง โดยในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศให้การระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ มีการอนุมัติกรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท และมีโครงการจับปลาหมอคางดำโดยรับซื้อเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ และปล่อยปลานักล่า แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ขณะนี้ปลาหมอคางดำได้ขยายการระบาดเพิ่มขึ้น สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างหนัก นอกจากนี้ จนถึงปัจจุบัน กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพื่อหาผู้กระทำความผิดที่ต้องรับผิดชอบต่อการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงขอให้วุฒิสภาช่วยพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพื่อหาแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งเร่งรัดให้มีการแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ และกรณีอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับสิทธิทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะรับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง