9 ม.ค.68- กมธ. วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืนฯ สนับสนุนแนวทางฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า หลังทดสอบฉีดในช้างบ้านจากปางช้างแล้ว ไม่พบผลข้างเคียงต่อสุขภาพช้าง

image

        นายชุติพงศ์  พิภพภิญโญ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวญาณธิชา  บัวเผื่อน โฆษกคณะ กมธ. และนายดิเรก  จอมทอง เลขานุการคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวถึงแนวทางการควบคุมประชากรช้างป่า ว่า กมธ. วิสามัญ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เข้าร่วมประชุมไปแล้ว 33 ครั้ง มีการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนใน 12 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ระยอง สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี นครราชสีมา ยะลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี โดยได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ปัจจุบันมีช้างป่าออกจากป่าอนุรักษ์เข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัย อาทิ โรงเรียน วัด และพื้นที่การเกษตร มากขึ้น อีกทั้งช้างป่าไม่ยอมกลับไปยังพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยสถิติความเสียหายโดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากช้างป่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปีงบประมาณ 2567 มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 34 ราย เสียชีวิต 39 ราย ซึ่งเป็นสถิติผู้เสียชีวิตจากช้างป่าสูงที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่มารจดบันทึกไว้ ในและในปีงบประมาณ 2568 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว 5 ราย เสียชีวิต 8 ราย

        นายชุติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.วิสามัญให้ความสำคัญต่อจำนวนประชากรช้างป่าและแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการควบคุมประชากรช้างป่าโดยได้ติดตามความคืบหน้าการทดลองใช้วัคซีน SpayVac เพื่อควบคุมประชากรช้างป่า โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.น.สพ.ฉัตรโชติ  ทิตาราม จากศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.รองลาภ  สุขมาสรวง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า จากการทดลองฉีดวัคซีนในช้างบ้าน 7 เชือก อายุเฉลี่ยประมาณ 43 ปี จากปางช้าง 2 แห่ง พบว่า ช้างที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่มีอาการอักเสบปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อช้างบ้าน ดังนั้น กมธ.วิสามัญ จึงเสนอให้ใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่าเพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมประชากรช้างป่า และลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับช้าง โดยขอให้กรมอุทยานฯ กำหนดระยะเวลาการดำเนินการวางแผนให้ชัดเจน เป็นขั้นตอนที่จะฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า และจะต้องเริ่มโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าให้กับประชาชน

ณํฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ