25 ธ.ค.67- ประธานรัฐสภา นัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14-15 ม.ค.68 พร้อมมองการทำประชามติ 2 ครั้ง จะทำให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทัน การเลือกตั้งทั่วไปปี 70

image

        นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ตามที่ตนได้หารือกับที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไปแล้วว่า ขณะนี้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จำนวน 17 ฉบับ และยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่นายพริษฐ์  วัชรสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอแก้ไขมาตรา 256 และหมวด 15/1 เพื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาของประธานสภาฯ พิจารณาแล้ว และมีความเห็นให้ส่งมายังตนเพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระ แต่ตนขอดูรายละเอียดก่อนเนื่องจากอาจจะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะได้พิจารณาไปพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในวันที่ 14-15 ม.ค.68 ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ม.ค.68 ตนจะเชิญวิป 3 ฝ่าย รวมถึงผู้แทนจากรัฐบาล หารืออีกครั้งว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาก่อน

        ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ตนเคยกังวลเรื่องการทำประชามติ 2 ครั้งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงหากมีผู้นำไปร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้น ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากความเห็นของประธานรัฐสภาสอดคล้องคณะกรรมการด้านกฎหมายแล้วก็จะบรรจุเข้าระเบียบวาระ ส่วนตัวเห็นว่า การทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ก็จะสามารถเดินหน้าต่อได้ และหวังว่าจะไม่มีใครนำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 1 ใน 3 จากที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งแต่ด่านแรก เมื่อผ่านแล้วต้องนำไปทำประชามติ แล้วไปยกร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อทำเสร็จก็ต้องนำกลับไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันสภาชุดนี้หรือไม่ และทันการเลือกตั้งปี 70 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะทำงาน และต้องไม่ลืมว่าการที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านความเห็นชอบ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

        นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา กล่าวถึงกรณีที่อาจมีผู้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุดลงหรือไม่ ว่า ตนก็ไม่ทราบว่าจะมีผู้ยื่นเรื่องหรือไม่ หรือถ้ายื่นแล้วก็ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะอาจไม่รับก็ได้ หรือถ้ารับแล้วก็ไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นใด ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่นำเรื่องเข้าสู่วาระหรือไม่ได้พิจารณาเลยก็จะทำให้ประชาชนจะรู้สึกเสียดายเวลา ดังนั้น การบรรจุเรื่องเข้าสู่ระเบียบวาระอย่างน้อยก็จะทำให้สามารถพิจารณาได้ในวันที่ 14-15 ม.ค.นี้ ถือเป็นข่าวดีในช่วงปีใหม่สำหรับประชาชน

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ