12 ธ.ค.67- สส.ศิริกัญญา พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษี กังวลหากเพิ่ม VAT เป็นร้อยละ 15 จะสร้างภาระให้กับประชาชน ด้าน รมช.กระทรวงการคลัง ระบุทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาไม่ใช่ข้อสรุป ชี้ที่ผ่านมารัฐจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ยืนยันพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านเพื่อประกอบการพิจารณา

image

        นางสาวศิริกัญญา  ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของรัฐบาล ถามนายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย  ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน ว่า ตามที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เร่งพิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล พร้อมเสนอ 3 แนวทาง โดยแนวทางที่ 1 คือ การศึกษาการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 20 เหลือ ร้อยละ 15 ส่วนแนวทางที่ 2 คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมที่จัดเก็บแบบขั้นบันได เปลี่ยนไปเป็นจัดเก็บฐานเดียวกันทั้งประเทศ ร้อยละ 15 และแนวทางที่ 3 คือ เพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น ร้อยละ 15 จากเดิมที่เก็บอยู่ที่ร้อยละ 7 ดังนั้น ตนขอสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของเป้าหมายการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่จากการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษีดังกล่าว และเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และมีการตั้งโจทย์อัตราการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร รวมทั้งใครเป็นผู้ที่รับภาระจากการปรับเพิ่มหรือปรับลดการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

        ด้านนายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้พิจารณาถึงการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษี และการจัดเก็บภาษีเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้า (Negative Income Tax) ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมารัฐสามารถจัดเก็บรายได้ของภาษีเมื่อเทียบจาก GDP ได้เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 18 ปัญหาสำคัญ คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาดังกล่าว เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น สามารถทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแระ และให้กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สำหรับตัวเลขเป้าหมายการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งเป้าไว้ แต่ร้อยละ 15 เป็นตัวเลขขั้นต่ำ (Global Minimum Tax Rate) ที่เทียบเคียงกับตัวเลขขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ระบุว่า ทุกประเทศไม่ควรแข่งขันกันในการลดอัตราภาษีไปมากกว่านี้ เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ จึงพิจารณาตัวเลข ร้อยละ 15 ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดตัวเลขดังกล่าว เพราะทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ที่สำคัญการปรับอัตราภาษีไม่สามารถทำได้แบบทันที ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติ ทั้งการใช้จ่ายรายได้จากภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ส่งผลประโยชน์โดยตรงกับประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำให้มากที่สุด ทั้งนี้ กลไกในการปรับโครงการภาษียังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปในเวลานี้ได้ และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่หลากหลาย เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ