24 พ.ย. 67 – กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา พิจารณาแนวทางแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ เพิ่มสิทธิลาคลอดของลูกจ้างหญิงเป็น 120 วัน พร้อมแนะ เพิ่มการรณรงค์ให้นายจ้างตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างในสิทธิการลา - การจ่ายค่าจ้าง และไม่นำการลามาเป็นเกณฑ์ประเมินการเลื่อนเงินเดือน

image

                นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในประเด็นเกี่ยวกับการลาคลอดของลูกจ้าง โดยมี นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า การแก้ไขกฎหมายมี 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขประเด็นด้านการให้ความคุ้มครองกลุ่มแรงงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐให้ได้รับวันหยุดหรือวันลาตามสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน, การแก้ไขให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดจำนวน 120 วัน จากเดิม 98 วัน โดยให้นายจ้างรับภาระค่าจ้าง 60 วัน และอีก 60 วัน จะส่งข้อสังเกตไปที่สำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณารับผิดชอบ, การให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเกี่ยวเนื่องจากการคลอดบุตรเมื่อบุตรมีภาวะเจ็บป่วยหรือมีภาวะแรกซ้อนจะได้สิทธิลาเพิ่มขึ้นอีก 15วัน โดยนายจ้างรับผิดชอบค่าจ้าง 7 วันครึ่ง ส่วนที่เหลือส่งข้อสังเกตให้กองทุนประกันสังคมพิจารณา, การให้ลูกจ้างมีสิทธิลาช่วยเหลือคู่สมรสเลี้ยงดูบุตร 15 วัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีในกฎหมายแรงงาน แต่ปรากฏในกฎหมายของข้าราชการพลเรือนและกฎหมายของรัฐวิสาหกิจ และการแก้ไขวิธีการยื่นแบบสภาพการจ้างให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะปรากฏในประกาศที่อธิบดีกำหนด

               นอกจากนี้ เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายสัมฤทธิ์ผลจึงควรดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การรณรงค์ให้นายจ้างรับรู้และเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างในสิทธิการลาหรือการจ่ายค่าจ้าง รวมทั้งไม่นำการลามาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินการเลื่อนขั้นหรือเลื่อนเงินเดือนพนักงาน อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงานเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงและจะต้องร่วมกันกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการวางมาตรการอย่างยั่งยืนต่อไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ