23 พ.ค.68 - สมาชิกวุฒิสภา ร่วมการประชุมนิเวศวิทยานานาชาติ เนฟสกี้ ครั้งที่ 11 ณ สหพันธรัฐรัสเซีย ผลักดันการใช้ AI เพิ่มความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ พร้อมชูโมเดล BCG ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดขยะ สร้างความยั่งยืน

image

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล อินนา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม และรองประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหภาพรัฐสภา (IPU) ในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง พร้อมด้วยนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองประธาน (กมธ.) การพลังงาน วุฒิสภา และคณะ ได้รับมอบหมายจากประธานวุฒิสภา เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมนิเวศวิทยานานาชาติ เนฟสกี้ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 22 - 23 พฤษภาคม 2568 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย
           โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล ได้ร่วมการอภิปราย หัวข้อ "Everything for Nature: Artificial Intelligence and High Technologies" โดยมีสาระสำคัญ คือ วุฒิสภาไทยส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการผลักดันในระดับนโยบายสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และนวัตกรรมที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 - 2570) ที่มีความครอบคลุมทั้งด้านกฎหมาย การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมได้นำเสนอโดยใช้ AI อภิปรายแทน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความชื่นชมในการนำเสนอในครั้งนี้อย่างมาก
           ด้าน นายเกียรติชาย ได้เข้าร่วมการประชุมหัวข้อ Circular  Economy: Growth Points, Challenges and Prospects" โดยมีสาระสำคัญ คือ แม้ว่าปัญหาขยะจะเป็นปัญหาใหญ่หากแต่ยังเผยให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Growth Points) ได้เป็นอย่างดี แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยเริ่มต้นจากขยะ โดยที่ผ่านมามีขยะเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งขยะจากภาคเกษตรกรรม ขยะจากภาคอุตสาหกรรม ขยะจากครัวเรือน ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บรรจุเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน “BCG Model” ไว้ในแผนพัฒนาแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการมุ่งเน้นนวัตกรรมสีเขียว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงมีความท้าทาย (Challenges) หลายประการทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในการคัดแยกขยะ พฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องของการตระหนักรู้ กฎเกณฑ์และการบังคับใช้ในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงความพร้อมของตลาดในเชิงของการแข่งขันทางด้านราคาสินค้าที่มาจากเศรษฐกิจหมุนเวียน

          สำหรับแนวโน้มในอนาคตของไทย เชื่อมั่นว่า หากนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างเต็มที่จะสามารถลดปริมาณขยะได้มากถึงร้อยละ 80 รวมถึงสามารถลดการปล่อยคาร์บอน และสร้างงานสีเขียวได้เป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการเพิ่มมูลค่าชีวมวล นวัตกรรมพลาสติก แพลตฟอร์มดิจิตอลแบบหมุนเวียนที่เชื่อมต่อผู้ผลิตขยะกับผู้รีไซเคิล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนมิได้หมายถึงการลดขยะเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการออกแบบเศรษฐกิจทั้งหมดใหม่เพื่อความยั่งยืนและเติบโตในระยะยาว ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

สำนักประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ