นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา โดยได้แสดงความกังวลถึงวิกฤตการศึกษาในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื่องจากขณะนี้มีเด็กนักเรียนที่กำลังจะจบชั้นระดับประถมศึกษา ปีที่ 6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังไม่มีที่เรียนต่อเกือบ 100 คน สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดของแผนการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ สืบเนื่องจากประกาศ สพฐ. ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ข้อ 2.8.3 กำหนดให้โรงเรียนจัดทำแผนรับนักเรียนระยะ 5 ปี (ปีการศึกษา 2565 – 2569) ซึ่งไม่สามารถปรับเพิ่มจำนวนนักเรียนได้ แม้จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น อาทิ หากกำหนดให้เปิด 5 ห้อง ห้องละ 40 คน รวม 200 คน หากมีนักเรียนเกินกว่านี้ก็จะไม่มีที่เรียน โดยในอำเภอเบตง จังหวัดยะลามีเด็กจบชั้น ป.6 ประมาณ 400 คน แต่มีที่เรียนเพียง 300 คน ทำให้มีเด็กตกค้างกว่า 100 คน ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะในครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอำเภอเบตง กำลังประสบปัญหาราคายางตกต่ำและโรคใบร่วงยางพาราระบาด ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในเขตเมืองหรือโรงเรียนเอกชนได้เหมือนในอดีต เพราะรายได้ลดลงจากวันละ 2,000 - 3,000 บาท เหลือเพียงวันละ 200-300 บาทเท่านั้น
นายอับดุลอายี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาตนได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนและนำเสนอปัญหาดังกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยพยายามหาห้องเรียนส่วนที่ยังไม่เต็มให้กับเด็กที่ต้องการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กตกค้างที่ไม่ได้เรียนอีกเกือบ 100 คน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนไทยพุทธที่ไม่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนารองรับเหมือนกลุ่มเด็กมุสลิม จึงต้องติดตามแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวางแผนรับนักเรียนที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของท้องถิ่น
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง