นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีการสื่อสารเพื่อการเตือนภัยและรับมือภัยพิบัติ ว่าตนในฐานะเคยมีประสบการณ์เป็นประธานมูลนิธิชุมชนไทย ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการรับมือภัยพิบัติมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี มีความเห็นว่า จากการถอดบทเรียนภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าบทเรียนจากภัยพิบัติของประเทศไทยยังคงมีปัญหาซ้ำรอย คือ ระบบการสื่อสารเพื่อการเตือนภัย ระบบสั่งการเหตุการณ์ รวมถึงแผนในการรับมือและจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคประชาชน จะเห็นได้ว่าชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่มีความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย ตรากฎหมาย หรือออกกฎระเบียบที่มีความชัดเจน จะช่วยส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน และข้อมูลต่าง ๆ ในการรับมือภัยพิบัติในระดับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
นายประภาส กล่าวต่อไปถึงบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 พบว่ามีประเด็นปัญหาหลายประการ อาทิ ไม่มีการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีจนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง ไม่มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวให้แก่ประชาชน ยังคงมีเหตุให้ประชาชนตื่นตระหนก ตกใจ และอพยพออกจากอาคารสูงเป็นระยะ ๆ ประชาชนมีความหวาดระแวง ไม่เชื่อมั่นในระบบแจ้งเตือนภัยของรัฐ ไม่มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังภัยพิบัติ และขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งต้องมีกระบวนการจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วมของประชาชนภายใน 1 ปี และกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลปฏิบัติงาน (Key Performance Indicators : KPI) ของอปท.ดังกล่าว
นายประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตั้งงบกลางเพื่อสนับสนุนกระบวนการส่งเสริมชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ตั้งแต่การจัดทำแผน การขับเคลื่อนแผน และการซักซ้อมแผนอย่างเร่งด่วน อย่างน้อยตำบลละ 1 ล้านบาท พร้อมกับพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานหลักในการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รวมทั้งจัดทำข้อมูลในการเตือนภัยที่เข้าใจง่าย เพื่อแจ้งให้ประชาชนทุกคนได้ทราบเป็นการล่วงหน้า และกระทรวงมหาดไทยต้องจัดให้อปท.ทุกแห่งดำเนินการซักซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง