ดร.โสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา พร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวว่า กมธ.ได้ศึกษาผลกระทบของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะยกระดับมาตรฐานของประเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายให้สำเร็จภายในปีนี้ โดยพบว่าสิทธิบัตรยาซึ่งอยู่ภายใต้กระเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาและการเข้าถึงยาของประชาชน โดยภายหลังการพิจารณาพบข้อกังวลหลัก ได้แก่ 1. การขยายอายุสิทธิบัตรยา จาก 20 ปี เป็น 25 ปี ซึ่งอาจทำให้ยามีราคาแพงขึ้นและส่งผลให้การผลิตยาสามัญที่มีราคาถูกกว่าเกิดขึ้นช้าลง 2. การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งอาจปิดกั้นการผลิตยาสามัญ ส่งผลให้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น 3. การจำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) อาจทำให้รัฐไม่สามารถจัดหายาได้อย่างทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉินหรือโรคระบาด และ 4. การขออนุสิทธิบัตรจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของสูตรยา (Evergreening Patent) ซึ่งอาจทำให้บริษัทยาขยายระยะเวลาการผูกขาด โดยไม่มีนวัตกรรมที่แท้จริง ทั้งนี้ จากข้อกังวลดังกล่าว กมธ. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง "สิทธิบัตรยาภายใต้ FTA ไทย-สหภาพยุโรป : โอกาสหรืออุปสรรคในการเข้าถึงยาของประเทศไทย" โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นวิทยากร เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ รองเลขานุการ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า สาระสำคัญจากการสัมมนาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวข้ออ่อนไหวและสำคัญที่สุด โดยบางหน่วยงานถึงกับระบุว่าเป็น “ประเด็นแดงก่ำ” สำหรับประเทศไทยในการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป ซึ่งจะมีขึ้นรอบที่ 5 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงปลายเดือนนี้ การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม และข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิบัตรยา 2. การขยายระยะเวลาสิทธิบัตรยา และการปกป้องข้อมูลยาทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกันว่าไทยไม่สามารถถอยในประเด็นนี้ได้ เนื่องจากสหภาพยุโรปเสนอให้ขยายอายุสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี โดยให้เหตุผลว่า ไทยใช้เวลานานในการขึ้นทะเบียนยา นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ปกป้องข้อมูลการทดลองยา ซึ่งอาจทำให้ไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการขึ้นทะเบียนยาได้ตามระยะเวลาที่จะตกลงกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ไทยจำเป็นต้องกำหนดนิยามของ "ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น" ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันบริษัทต่างชาติจากการต่ออายุสิทธิบัตรยาโดยไม่จำเป็น หรือที่เรียกว่า "Evergreening" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของไทย และ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้สามารถเติบโตได้ โดยมีข้อเสนอให้ปรับบทบาทขององค์การเภสัชกรรมให้เป็นองค์กรที่เน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในขณะที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยาสามัญในประเทศไทยสามารถขยายการผลิตได้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านยาและลดต้นทุนด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ ประเด็นที่ได้จากการสัมมนาจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรป เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดและเสียเปรียบน้อยที่สุดในการเจรจาครั้งนี้
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง