10 เม.ย. 68 - คณะกมธ.สาธารณสุข สผ. เผยโรคมะเร็งและโรคหายากรักษายาก-ค่ารักษาพุ่ง แนะเร่งวางแผนรองรับค่าใช้จ่าย สนับสนุนการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พร้อมถกหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

image

           นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวผลการพิจารณาศึกษาปัญหาการเข้าถึงยาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยกลุ่มโรคหายาก โดยระบุว่าโรคมะเร็งและกลุ่มโรคหายากเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคพันธุกรรมที่หายยากและร้ายแรงต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจึงจะกลับมามีชีวิตที่ปกติได้ แต่วิธีการรักษาจำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักร้อยล้านบาท ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกมธ.จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหาแนวทาง อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ศรีสวางควัฒน์ แพทย์หญิงจอมกมล ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศ.วัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           นายแพทย์ทศพร กล่าวต่อไปถึงสถิติและสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย โดยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 67,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เฉลี่ย 120,000 คนต่อปี อันดับมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนอันดับมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้จากข้อมูลปี พ.ศ. 2565 พบผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดขึ้นใหม่ ประกอบด้วย มะเร็งตับ 27,963 ราย มะเร็งปอด 23,494 ราย มะเร็งเต้านม 21,628 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 20,173 ราย มะเร็งปากมดลูก 8,662 ราย และมะเร็งอื่น ๆ รวม 81,648 ราย ซึ่งประเทศไทยยังติดอันดับ 4 ของโลกในอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับ โดยมีผู้เสียชีวิตปีละ 28,704 ราย หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 ราย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับแข็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี (เพิ่มความเสี่ยง 100–400 เท่า) การดื่มแอลกอฮอล์ (เกิน 80 กรัมต่อวัน เสี่ยงเพิ่ม 7.3 เท่า) โรคอ้วน หรือไขมันพอกตับสารอะฟลาทอกซินจากอาหารแห้ง เช่น ธัญพืช ถั่ว และพริกแห้ง และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ

          นายแพทย์ทศพร กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการป้องกันและเข้าถึงการรักษา ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแผนรองรับและสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างครอบคลุม ควรส่งเสริมการตรวจคัดกรองทุก 6 เดือน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และกรณีมะเร็งปากมดลูก สามารถหาชุดตรวจได้ที่ร้านขายยาที่ร่วมโครงการกับ สปสช.

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ