10 เม.ย. 68 - คณะกมธ.กิจการศาล สผ. เผย ผลประชุมกรณีอาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ถล่ม ชี้เป็นปัญหาสำคัญต่อภาพลักษณ์องค์กรที่ตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน เร่งหาข้อเท็จจริง-แนวทางแก้ไข

image

            นายสัญญา นิลสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ โฆษกมธ. และคณะกมธ. ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาด้านภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สาเหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและได้รับความสนใจในวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือขององค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของหน่วยงานต่างๆของรัฐ โดยการประชุมในครั้งนี้มีนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ และนางพิมพา วภักดิ์ดี รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมประชุม พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อคณะกมธ.

          ทั้งนี้ในการประชุม คณะกมธ.ได้มีข้อซักถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ตั้งแต่การออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม นอกจากนี้ยังสอบถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุตึกถล่ม การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้รับการชี้แจงว่า สตง.มีการว่าจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคารโดยบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 73 ล้านบาท ซึ่งประเด็นการออกแบบ คณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่าได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยเห็นว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมตรวจสอบการออกแบบว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ได้สอบถามถึงการแก้ไขสัญญารวม 9 ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรมขัดกับงานสถาปัตยกรรม เช่น การแก้ไข Core Lift และการปรับแก้รูปแบบ Core Wall เป็นต้น ซึ่งทุกกรณีได้มีการหารือไปยังผู้ออกแบบทุกครั้ง ทั้งนี้ สตง.ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้มีขนาดเล็กลงและยืนยันว่าอาคารสำนักงานแห่งใหม่มีความจำเป็นเนื่องจาก สตง.ไม่มีสำนักงานของตนเอง ซึ่งตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการจำนวน 2,400 คน รวมถึงรองรับผู้แทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย

          นอกจากนี้ในประเด็นการก่อสร้าง คณะกมธ.ได้รับการชี้แจงจาก สตง.ว่าได้จัดหาผู้รับจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยวิธี E-bidding โดยผู้ชนะการประกวดราคาได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี หรือ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลป๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท โดย สตง.ได้กำหนดในสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างก่อสร้างทำประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญาซึ่งในประเด็นการก่อสร้างอาคาร คณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ว่าจ้าง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาการทิ้งงาน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่นคุณสมบัติของเหล็กและคอนกรีต โดย สตง.ชี้แจงว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างได้มาตรฐาน มอก.และมีการทดสอบแรงดึงและการดัดโคลงของเหล็กผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ออกแบบให้ความเห็นว่าสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ ส่วนในประเด็นการคุมงาน พบว่ามีการว่าจ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด ร่วมค้าหลัก เข้าร่วมค้ากับบริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เค พี คอนซัลแตนตส์ แอนด์ เม้นท์ จำกัด โดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งคณะกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการควบคุมการก่อสร้างของบริษัทเพื่อควบคุมงานก่อสร้างรวมทั้งสอบถามถึงความรับผิดชอบของบริษัทดังกล่าวด้วย 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ