29 ก.ย. 67 - สส.ธัญวัจน์ ชี้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ม.ค. 68 เป็นก้าวสำคัญของสิทธิ LGBTIQ+ หวังจากนี้สังคมร่วมสร้างการป้องกันการเลือกปฏิบัติผ่านระบบการศึกษา 

image

          นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ โพสต์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยได้เปลี่ยนคำว่า สามี และ ภรรยา เป็นคำกลาง คือ คู่สมรส ที่ไม่เจาะจงเพศ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการหมั้น สมรส การหย่า และสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 หรือ 120 วันหลังการประกาศ
          นายธัญวัจน์ ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2015 ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินว่ามีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีแรกหลังจากที่กฎหมายผ่าน ส่วนใหญ่มาจากการจัดงานแต่งงาน การท่องเที่ยว และการบริโภคที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างงานใหม่กว่า 45,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการจัดเลี้ยง การท่องเที่ยว และการบริการต่าง ๆ ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันสำเร็จแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่อาจเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิและการยอมรับของชุมชน LGBTIQ+ อาจรวมถึงการออกกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ แม้ว่าการสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกด้านของการเลือกปฏิบัติ อาจมุ่งเน้นไปที่การสร้างหรือปรับปรุงกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในด้านการจ้างงาน ที่อยู่อาศัย การบริการสุขภาพ และการบริการสาธารณะ
          นายธัญวัจน์ ชี้ว่า การศึกษาที่ครอบคลุมและเปิดกว้างต่อ LGBTIQ+ อาจช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของความเข้าใจและการยอมรับตั้งแต่วัยเด็ก การปรับปรุงตำราเรียนให้ครอบคลุมถึงเพศสภาพและเพศวิถีที่หลากหลาย รวมถึงการฝึกอบรมครูให้สามารถจัดการกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน LGBTIQ+ อย่างอ่อนไหว นอกจากนี้ การขยายโปรแกรมการป้องกันการรังแก (bullying) นักเรียนที่เป็น LGBTIQ+ ก็น่าจะได้รับการพิจารณาเพิ่มเติม ขณะที่บริการทางสังคมและการสนับสนุนสำหรับครอบครัว LGBTIQ+ มีความสำคัญเมื่อคู่สมรสหลากหลายทางเพศเริ่มแต่งงานและสร้างครอบครัว อาจมีการขยายบริการทางสังคมเพื่อสนับสนุนครอบครัวเหล่านี้ เช่น การดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว และการเข้าถึงเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์
          ส่วนการริเริ่มเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจนั้น นายธัญวัจน์ มองว่า อาจเน้นไปที่การปรับปรุงโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับบุคคล LGBTIQ+ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่การเลือกปฏิบัติเคยเป็นอุปสรรค การพัฒนาโปรแกรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ LGBTIQ+ การสร้างความเท่าเทียมในที่ทำงาน และการสร้างพื้นที่ที่ครอบคลุมสำหรับการท่องเที่ยวและความบันเทิง อาจช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความสำเร็จที่ได้จากการสมรสเท่าเทียมและนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริงสำหรับชุมชน LGBTIQ+ ต่อไป

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
แฟ้มภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ